ในหนึ่งครอบครัวถ้ามีเด็ก 2 คนก็เอาไป 1 คน ถ้ามีเด็ก 5 คน เขาจะเอาไป 4 คน เขาเอาเด็กไปอยู่ที่โรงเรียนเกณฑ์ทหาร เอาไปฝึกที่นั่น
เด็กจากกลุ่มชาติพันธุ์ว้ากว่า 80 คน ที่ถูกส่งไปอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่ต้องการให้ลูกถูกนำตัวไปฝึกทหารตั้งแต่ยังเล็ก
ข้อมูลที่ผู้ดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ได้รับจากพ่อแม่เด็ก คือ เด็กที่เกิดในครอบครัวชาวว้า ทางตอนเหนือของรัฐฉานประเทศเมียนมาทุกคนทั้งชายและหญิงเมื่ออายุครบ 5 ขวบจะถูกนำตัวไปเข้าโรงเรียนฝึกทหาร โดยแต่ละครอบครัวสามารถเก็บลูกไว้ได้เพียง 1 คน พ่อแม่ของเด็กที่ไม่ต้องการให้ลูกเสี่ยงอันตรายจึงจำต้องส่งลูกไปอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแลกกับการไม่ต้องฝึกทหาร
เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้จะได้เรียนรู้ภาษา 4 ภาษาได้แก่จีน อังกฤษ เมียนมาและภาษาว้า นอกจากนี้สถานรับเลี้ยงเด็กยังส่งเด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนของเมียนมา ซึ่งต้องรับภาระในการส่งเสียเด็กทั้งหมดเดือนละกว่า 30,000 บาท
นอกจากนี้ยังต้องรับภาระเลี้ยงอาหารเด็กทุกคนทั้ง 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้มาจากการรับบริจาค ทำให้การรับเด็กมาดูแลทำได้อย่างจำกัด สวนทางกับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้รับดูแลไม่ไหว ทางออก คือ การส่งเด็กบางคนมาให้มูลนิธิในประเทศไทยช่วยดูแล
ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เราพบเด็กหญิงชาวว้าวัย 7 ปีคนหนึ่ง เดินทางมาเรียนภาษาไทยที่โครงการมิตรข้างถนนซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความรู้กับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ อ.แม่สาย โดยเจ้าหน้าที่ภาคสนามในโครงการซึ่งรับหน้าที่สอนหนังสือเด็กมานานกว่า 5 ปีให้ข้อมูลว่าที่โครงการเริ่มมีเด็กชาวว้ามาเรียนครั้งแรกเมื่อราว 3 ปีก่อน หลังจากนั้นจะมีเข้ามาทุกปีปีละประมาณ 10 คน โดยทั้งหมด เมื่อพูดภาษาไทยได้แล้วจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนของไทย
น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กในพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้ข้อมูลว่า การส่งลูกมาอาศัยในประเทศไทยเพื่อหลบเลี่ยงการเป็นทหารของชาวว้าเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ยังไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผยเพราะสถานะการอยู่ในประเทศไทยของพวกเขายังไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ให้ที่พักพิงแก่เด็กอาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ได้
อย่างไรก็ตามเด็กชาวว้าที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ ที่เข้าเรียนในโรงเรียนของไทย ผู้ทำงานด้านเด็กมองว่า การให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รับการศึกษารวมถึงให้อาศัยเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยนั้น แม้จะเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศไทยแต่ก็ช่วยให้เด็กได้รับความปลอดภัย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาอีกทางหนึ่ง
น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ
เขาไม่ต้องการอะไร แค่ต้องการชีวิตที่ปลอดภัย ลองคิดดูว่าถ้าเด็กเหล่านี้ถูกส่งไปเป็นทหารของว้าทั้งหมด ปัญหาที่ตามมาคือเขาจะกลายเป็นเครือข่ายยาเสพติด แต่ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังที่ดีจากประเทศไทย มันน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดได้
ปัจจุบันในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ยังมีกองกำลังขนาดใหญ่อยู่ราว 3 - 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกองทัพรวมแห่งรัฐว้า (UWSA) ส่วนกองกำลังชาวไทยใหญ่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กองทัพรัฐฉานเหนือของพรรครัฐฉานก้าวหน้า (SSPP) และกองทัพรัฐฉานใต้ของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) นอกจากนี้ยังมีกองกำลังของรัฐบาลเมียนมาตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่สู้รบ
แม้ปัจจุบันจะมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่หลายฝ่ายยังมองว่าควาสงบยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้หลายครอบครัวยังอพยพออกนอกพื้นที่ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้