ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : วิกฤตวัคซีนชายแดน

8 พ.ค. 62
18:44
337
Logo Thai PBS
เปิดปม : วิกฤตวัคซีนชายแดน
วัคซีนชายแดน ปัญหากระทบด่านป้องกันโรคแนวชายแดน เมื่อไม่มีวัคซีนสำหรับทุกคน

โรคหัดระบาดทั่วโลก

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด (เดือน เม.ย.ปี 2562) ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีการระบาดของโรคหัดมากที่สุดในโลก ตั้งแต่เดือน มี.ค.ปี 2561 ถึงเดือน ก.พ.2562 พบเคสโรคหัดในไทยทั้งหมด 6,213 เคส

จำนวนผู้ป่วยโรคหัดทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้สูงถึง 112,163 คน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 3 เท่า หรือ ราว 300% ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคหัดตามรายงานขององค์การอนามัยโรคนั้น ได้แก่ คองโก เอธิโอเปีย จอร์เจีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน มาดากัสกา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ซูดาน ไทย และ ยูเครน

 

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ เพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้มีค่าครอบคลุมมากขึ้น และยืนยันว่า การรับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ได้ทำให้เด็กมีอาการออทิสติกแต่อย่างใด หลังจากสหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหาความเชื่อที่ผิดนี้ และทำให้เกิดการระบาดของโรคหัดในสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

ด่านป้องกันโรคแนวชายแดนไทยอ่อนแอลง

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นปีที่โรคหัดระบาดในพื้นที่ชายแดนมากที่สุด และเป็นครั้งแรกที่พบผู้ป่วยโรคนี้หนาแน่นใน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ จ.ตาก โดยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ 122 คน และชาวต่างชาติ 117 คน ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนต้องได้รับยาราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลในแนวชายแดนมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 500,000 คนต่อปีเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ติดโรคเหล่านี้

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ในแนวชายแดนแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อรักษาค่าป้องกันโรคให้มีความครอบคลุมประชากรในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 ข้อมูลจากโรงพยาบาลแม่สอดระบุว่า หากต้องการป้องกันโรคระบาดอย่าง คอตีบ หัด คางทูม โปลิโอ หัดเยอรมัน และไข้ทรพิษหรือฝีดาษให้ได้ผล ในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีประชากรจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว และถ้าหากต้องการป้องกันโรคไอกรน ในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีประชากรมากกว่าร้อยละ 90 ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน นี่คือสาเหตุว่า เหตุใดโรงพยาบาลแม่สอด ต้องให้วัคซีนกับคนทุกกลุ่ม โดยไม่เลือกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นชนชาติใดและมีสิทธิรักษาพยาบาลในพื้นที่หรือไม่

 

 

โรคไม่เลือกชนชาติ ไม่เลือกพรมแดน ไม่เลือกเพศและอายุ ถึงแม้ประชากรไทยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 95 ต่างได้รับวัคซีนสำคัญๆ เพื่อป้องกันโรคระบาดมาตั้งแต่เด็ก ผ่านระบบสาธารณสุขที่ริเริ่มให้วัคซีนกับเด็กไทยตั้งแต่ปี 2535 โดยปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยทั้งหมด ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและซื้อประกันสุขภาพ ก็จะได้รับการสนับสนุนวัคซีนโดยใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวเช่นกัน อีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาจัดหาวัคซีนคือกรมควบคุมโรค ที่จะแจกจ่ายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น แต่กลุ่มที่ไม่มีหน่วยงานใดสนับสนุนค่าใช้จ่ายและจัดหาวัคซีนให้เลย คือ ชาวต่างชาติที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายแสนคนตลอดแนวตะเข็บชายแดนด้านตะวันตก

ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจึงนำวัคซีนที่คงเหลือจากกลุ่มผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลข้างต้น มาแจกจ่ายให้กับชาวต่างชาติที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล เพราะพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ เพราะระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้สนับสนุนให้กับประชาชนของประเทศนั้นๆ อย่างทั่วถึง ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรืออาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนคือคนที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนในชีวิต พวกเขาจึงเป็นพวก “เวอร์จิ้น” คือ ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคร้ายแรงที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

แรงงานพม่าหรือแรงงานต่างๆ ที่นำเข้ามา โดยเฉพาะแรงงาน MOU เราไม่มีการเช็คประวัติวัคซีนเลยนะ อยากเอาเข้ามาก็ได้ เอาเข้ามา แล้วก็เอามาตรวจสุขภาพในประเทศเรา พอเจอวัณโรคก็ทิ้งเอาไว้ในประเทศนี่แหละ อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มาก คนไทยจะมีความมั่นคงเศรษฐกิจที่ดี แต่ความล่มสลายทางสุขภาพจะเกิดขึ้น เพราะเรานำโรคเข้ามาเยอะมาก” นายแพทย์สมยศ กรินทราทันต์ รองผอ.โรงพยาบาลแม่สอด กล่าว

วัคซีนไม่พอให้ชาวต่างชาติไร้สิทธิรักษาพยาบาล

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อนช่วง 2-3 ปีก่อน สปสช.จัดซื้อวัคซีนแบบมัลติโดสซึ่งสามารถใช้ได้หลายคนต่อ 1 ขวด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเบิกวัคซีนชนิดนี้เกินจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในพื้นที่ เพื่อเผื่อไว้ในกรณีที่วัคซีนเสียหายจากการเปิดใช้

 

 

ที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุขตามแนวชายแดน จึงอาศัยวัคซีนที่เบิกเกินจากจำนวนผู้รับวัคซีน มาใช้กับคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล แต่ปัญหาคือ การเบิกวัคซีนเกินจำนวนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการใช้วัคซีนในพื้นที่

ซื้อแบบมัลติโดสโอกาสเสียสูง เราจึงปรับมาซื้อแบบซิงเกิลโดส หมายความว่า 1 คน ต่อ 1 หลอด เมื่อเป็นแบบนี้ตามทฤษฎีเรามีเป้าหมายการซื้ออยู่ที่ 20 ล้านคน ก็ต้องซื้อ 20 ล้านหลอด แต่ที่ผ่านมาเราอาจซื้อให้จำนวนมันเขย่งกัน คือซื้อมากกว่ากลุ่มเป้าหมายนิดหน่อย เพื่อป้องกันว่าอาจเกิดการเสื่อมหรือเสียวัคซีน สตง.ก็สงสัยว่าทำไมเราซื้อมากกว่าจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการ เราจึงต้องซื้อวัคซีนให้เท่ากับจำนวนของกลุ่มเป้าหมายในปีนั้นๆ เมื่อต้องซื้อให้เท่ากับจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ก็บังเอิญว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือคนไทยเท่านั้น ในปัจจุบัน วัคซีนที่ สปสช.จัดหา จึงใช้ได้เฉพาะคนไทย” โฆษก สปสช. กล่าว

ต้องการงบ 8-10 ล้านบาท หาวัคซีนให้ชาวต่างชาติ

โรงพยาบาลแม่สอดประเมินว่าในแต่ละปี หน่วยงานสาธารณสุขในแนวชายแดนต้องการงบประมาณสำหรับจัดซื้อวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในพื้นที่วงเงินประมาณ 8 - 10 ล้านบาท เพื่อเสริมแนวป้องกันโรคระบาดจากแนวชายแดน และไม่ทำให้คนไทยทั้งในและนอกพื้นที่ตกอยู่ในความเสี่ยงติดโรคระบาด อย่างไรก็ตาม งบประมาณจำนวนนี้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล 

 

 

โฆษก สปสช.มองว่า ปัจจุบันระบบการจัดซื้อวัคซีนและแจกจ่ายวัคซีนมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือ หากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนวัคซีนให้กับคนกลุ่มนี้ก็สามารถทำได้เลย โดยจะให้ สปสช. เป็นผู้จัดซื้อวัคซีนให้ก็ได้ เพื่อให้ได้ราคาวัคซีนต่อหน่วยที่ถูกลง เพราะในแต่ละปี สปสช.ต้องจัดซื้อวัคซีนในจำนวนมากอยู่แล้วเป็นปกติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง