งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Research ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสามารถของแมวบ้านในการสื่อสารกับมนุษย์ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด โดยใช้วิธีทำให้แมวเกิดความเคยชินเพื่อตรวจสอบว่าแมวสามารถแยกแยะคำพูดของมนุษย์ได้หรือไม่
พวกเขาสังเกตพฤติกรรมแมว ทั้งแมวบ้านและแมวคาเฟ่ในญี่ปุ่น โดยทดลองเปิดเสียงคำพูดของมนุษย์ 4 คำที่มีลักษณะการออกเสียงแตกต่างกันตามหลักสัทศาสตร์ แล้วตามด้วยเสียงเรียกชื่อของมัน ทั้งที่เป็นเสียงจากเจ้าของและเสียงเรียกของคนแปลกหน้า
จากการทดสอบแมวเหล่านี้ พบว่าสามารถแยกแยะชื่อของตัวเองจากคำนามทั่วไป โดยแสดงท่าทางว่ารู้จักชื่อของตัวเอง เช่น กระดิกหู ขยับหัว หรือแม้แต่กระดิกหาง แม้เสียงที่ใช้เรียกจะไม่ใช่เสียงที่คุ้นเคยของเจ้าของพวกมัน
นอกจากนี้ แมวยังสามารถแยกแยะเสียงเจ้าของจากคนแปลกหน้าของมัน โดยเมื่อเจ้าของเรียกชื่อมันจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแมวบ้านมีความสามารถในการจดจำท่าทาง ใบหน้าและเสียงพูดของมนุษย์ได้
ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งชี้ว่าทั้งแมวบ้านและแมวจากคาเฟ่แมวสามารถแยกแยะชื่อของตัวเองจากคำอื่นๆ ได้ แต่แมวคาเฟ่ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงเรียกชื่อเพื่อนของมันด้วย จึงสรุปได้ว่าแมวสามารถแยกแยะเนื้อหาของคำพูดของมนุษย์ตามความแตกต่างของการออกเสียงของมนุษย์
นักวิจัย อธิบายเกี่ยวกับผลการวิจัยนี้ว่า ชื่อของแมวเป็นหนึ่งในคำที่มนุษย์มักออกเสียงบ่อยที่สุด แม้แมวจะไม่รู้ความหมายแต่สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการได้ยินชื่ออาจส่งผลต่อพฤติกรรมของแมวแยะช่วยให้แมวแยกแยะชื่อของมันได้มากขึ้น ทั้งการรับรางวัลหรือการลงโทษอาจส่งผลต่อพฤติกรรมชื่อแมวด้วย เนื่องจากเมื่อเรียกชื่อแมวแล้วให้รางวัลอย่างการให้อาหาร การลูบคลำ เล่นด้วย หรือมีการลงโทษ เช่น พาไปพบสัตวแพทย์หรือไปอาบน้ำ แมวก็จะมีพฤติกรรมตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป