ผศ.กลิ่นเทียน วรรณภักตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการการศึกษาการแตกหักของดีเอ็นเอในผู้ป่วยโรคปอดอุดตันเรื้อรังใน จ.เชียงใหม่ ในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูงและต่ำ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของปอด และความถี่ของการเกิดการแตกหักของดีเอ็นเอในเยื่อบุกระพุ้งแก้ม โดยเปรียบเทียบอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูง ค่าฝุ่น PM10 สูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กับช่วงที่มีมลพิษทางอากาศต่ำ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 58 คน และอาสาสมัครสุขภาพดี 26 คน ที่อยู่ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่าในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับฝุ่นสูงเกินมาตรฐานจะมีอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอสูงกว่าช่วงเดือน ส.ค.
ผศ.กลิ่นเทียน ระบุอีกว่า ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีความไวต่อพิษฝุ่นมากกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอในคนไข้กลุ่มนี้จะสูงกว่าคนปกติถึง 200 เท่า แม้ว่าการแตกหักของดีเอ็นเอจะสามารถซ่อมแซมได้ แต่ก็ต้องอาศัยเวลา ซึ่งหากสัมผัสฝุ่นพิษซ้ำๆ ร่างกายทำการซ่อมแซมไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง อาจส่งผลให้มีการทำลายเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความรุนแรงของโรคและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอนาคต
ด้าน ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล หัวหน้าโครงการผลกระทบร่วมของคุณลักษณะทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็ก สภาพภูมิอากาศ และผลต่อสุขภาพจากการปลดปล่อยการเผาชีวมวลในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแก๊สต่างๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งแก๊สเหล่านี้จะช่วยกันผสมโรงทำให้เกิดความเป็นพิษด้วย เมื่อทั้ง 2 ส่วนทำปฏิกิริยากัน ทำให้ความรุนแรงของความเป็นพิษในมลพิษทางอากาศมากขึ้น
ขณะที่โลกร้อนจะทำให้ใบไม้แห้งและมีโอกาสเกิดการเผาไหม้มากขึ้น ในทำนองเดียวกันการเผาไหม้ทำให้เกิดสารสู่ชั้นบรรยากาศที่จะดูดซับทำให้เกิดโลกร้อนมากขึ้น เป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน เมื่ออากาศร้อนและมีการเปิดแอร์เพิ่มมากขึ้นก็จะปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันพืชแห้งแล้งมากขึ้นบวกกับอากาศแห้งจึงเกิดไฟป่า เป็นผลกระทบลูกโซ่ นอกจากนี้พืชที่อยู่ในสภาพอากาศแห้งแล้งมากๆ จะต่อสู้ด้วยการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยในชั้นบรรยากาศ ทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบ