ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

22 ก.พ. 62
15:54
1,952
Logo Thai PBS
เปิดปม : ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
ความพยายามผลักดันโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่จากจีนมุ่งหน้าสู่แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาวได้สะดวกขึ้น ท่ามกลางความเห็นต่างที่มองว่า โครงการดังกล่าวอาจนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่แม่น้ำโขง

ทุกวัน เรือขนส่งสินค้าและเรือท่องเที่ยว สัญชาติไทย ลาว เมียนมาและจีนจะสัญจรผ่านเข้าออกบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ข้อมูลจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย ระบุว่า เรือที่ผ่านเข้า-ออก บริเวณสามเหลี่ยมทองคำส่วนใหญ่เป็นเรือสินค้าขนาด 150 - 300 ตัน ส่วนเรือขนาด 500 ตันซึ่งทั้งหมดเป็นเรือสัญชาติจีน มีจำนวนไม่มากเพราะสามารถสัญจรได้เพียงช่วงฤดูน้ำหลากและในช่วงที่เขื่อนในประเทศจีนเพิ่มการระบายน้ำเท่านั้น หากเดินทางในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงที่เขื่อนในประเทศจีนลดการระบายน้ำอาจเกิดอันตรายระหว่างเดินทางได้

 

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 เริ่มมีการเสนอแนวคิดให้ขุดลอกและระเบิดแก่งทั้งหมด 148 แห่ง เริ่มตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 243 ในแม่น้ำโขงบริเวณรอยต่อประเทศเมียนมากับประเทศจีนไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทางกว่า 631 กิโลเมตร

การระเบิดจะใช้เครื่องมือเจาะแบบอัดลมสำหรับหินที่อยู่ผิวน้ำ ส่วนการเจาะใต้น้ำจะใช้เครื่องมือเจาะสำหรับใต้น้ำ หินที่ีถูกระเบิดแล้วบริเวณผิวน้ำจะใช้รถแบคโฮตักมาไว้บนเรือท้องแบนขนาด 100-150 ตัน ส่วนหินที่อยู่ใต้น้ำจะใช้ที่ตักดินขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร ตักขึ้นมาและขนใส่เรือท้องแบนเพื่อขนไปทิ้งบริเวณริมฝั่งหรือถมบริเวณร่องน้ำลึก

 

 

จากการเดินทางสำรวจเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงบริเวณรอยต่อประเทศจีน-เมียนมาจากท่าเรือกวนเหล่ยไปถึงเมืองเชียงรุ่ง ประเทศจีนซึ่งมีการปรับปรุงร่องน้ำไปแล้วก่อนหน้านี้ พบว่า บริเวณดังกล่าวเรือสามารถแล่นได้เป็นทางตรงและสามารถทำความเร็วได้อย่างปลอดภัย ต่างจากเส้นจากสามเหลี่ยมทองคำประเทศไทยไปสู่ท่าเรือกวนเหล่ย ที่เรือต้องเลี้ยวหลบหลีกแก่งที่มีอยู่ตลอดเส้นทาง หากเปรียบเทียบร่องน้ำที่ถูกปรับปรุงแล้วเป็นถนนลาดยางกับร่องน้ำที่ยังไม่ถูกปรับปรุงก็คงไม่ต่างจากถนนลูกรัง

 

 

 

การเก็บข้อมูลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย พบว่า เรือที่แล่นอยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนมีอยู่ราว 500 - 600 ลำ แบ่งเป็นเรือสัญชาติลาว 400 - 500 ลำ เรือสัญชาติจีนประมาณ 80 ลำ เรือสัญชาติเมียนมาประมาณ 30 ลำ ส่วนเรือสัญชาติไทยมีราว 5 - 6 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือท่องเที่ยว โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีเรือเข้า-ออกท่าเรือเชียงแสนทั้งหมด 5,961 เที่ยว

แม้เรือสัญชาติไทยจะมีไม่มากแต่เมื่อดูมูลค่าการส่งออกสินค้าจากท่าเรือเชียงแสนประเทศไทยไปขายประเทศจีนในปี 2561 กลับพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเพียง 500 ล้านบาท ได้เปรียบดุลการค้ากว่า 16,000 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมองว่า หากเรือขนาดใหญ่สามารถแล่นในแม่น้ำโขงได้สะดวก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าไทยได้ประโยชน์จากต้นทุนการขนส่งทางน้ำที่ลดลง

แม้การระเบิดแก่งจะทำให้สามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัย แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์กลับมองว่าแม่น้ำต่างจากถนน ตรงที่มันมีระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนอยู่ในนั้น เช่น ดอนทรายกลางแม่น้ำเป็นที่วางไข่ของนกนานาชนิด ส่วนแก่งหินใต้น้ำก็เป็นที่อาศัยของปลาซึ่งชาวประมงจะรู้ดีว่าหากจะหาปลาต้องหาบริเวณนี้ หากร่องน้ำถูกปรับปรุงให้เรียบและกว้าง แม่น้ำก็คงไม่ต่างจากคลองส่งน้ำ

 

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือฯกังวล คือ พวกเขามองว่าการปรับปรุงร่องน้ำโดยการทำลายแก่งซึ่งเป็นตัวชะลอน้ำตามธรรมชาติออกไป อาจทำให้กระแสน้ำแรงขึ้นจนเกิดการพังทลายของตลิ่งซึ่งปัจจุบันก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมองว่าการปรับปรุงร่องน้ำโดยการนำหินที่ได้จากการระเบิดแก่งไปถมบริเวณร่องน้ำลึก จะทำให้ร่องน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง จนอาจกระทบต่อแนวเขตแดนไทย-ลาว ที่ยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ

ปัจจุบันโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอ ร่างมาตรการป้องกัน แก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เมียนมา ลาวและจีนก่อนส่งไปยังรัฐบาลแต่ละประเทศพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ ก่อนเสนอกลับมายังคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศอีกครั้ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง