ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : RESTART ประเทศไทย

8 ก.พ. 62
15:40
757
Logo Thai PBS
เปิดปม : RESTART ประเทศไทย
การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ หลังจากคนไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนราษฎรมานานกว่า 7 ปี เปิดปมชวนย้อนกลับไปดูว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ คสช.อยู่ในอำนาจมานานกว่า 5 ปี และมองไปข้างหน้าว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

5 ปีประเทศไทยภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ความไม่สงบเปิดทางกองทัพเข้ามาจัดระเบียบผ่านรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด

ย้อนกลับไป ช่วงระหว่างปี 2544 - 2549 ภายใต้การบริหารของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจเป็นช่วงที่เรียกได้ว่า เป็นยุคที่พลเรือนมีอำนาจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้ให้อำนาจสิทธิขาดแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งค่อนข้างมาก เมื่อรวมกับอำนาจทางธุรกิจและฐานมวลชนทางการเมือง ยังทำให้นายทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจค่อนข้างสูง

ในช่วงการดำรงตำแหน่งของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ เขาถูกกล่าวหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุจริตคอรัปชั่น เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ ควบคุมสื่อ

ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 หรือช่วงเดือนกันยายนปี 2547 มีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ ชุมนุมปราศรัยเพื่อขับนายทักษิณ ชินวัตร เป็นครั้งแรก จากนั้น การชุมนุมเริ่มขยายวงกว้างขึ้นเมื่อถึงปลายปี 2548 ส่วนหนึ่งมาจากการนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

 

ภาพ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารปี 2549

ภาพ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารปี 2549

ภาพ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารปี 2549

 

วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายทักษิณ ชินวัตร

การรัฐประหารปี 2554

 

ภาพพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ภาพพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ภาพพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลโดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้พยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ จึงถูกประท้วงนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2556

ภายหลังนายสุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จัดชุมนุมเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการปะทะ ระหว่าง นปช. กับ กปปส. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

 

ภาพการประกาศยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ภาพการประกาศยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ภาพการประกาศยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เปิดช่องให้กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ภายในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศยึดอำนาจการปกครอง วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557

 

ทหารผู้พิทักษ์

 

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเมืองเปรียบเทียบ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์บทบาทของกองทัพที่เข้ามาเป็นตัวกลางของความขัดแย้งทางการเมืองว่า

หากวิเคราะห์ในแง่รัฐศาสตร์การทหารก็จะมองถึงแรงจูงใจของทหาร เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมแบบรัฐขุนศึก คือ สังคมที่เกิดความแตกแยก กลุ่มการเมืองต่างๆ ทะเลาะเบาะแว้ง จึงเปิดทางให้กองทัพเข้ามาจัดระเบียบ แล้วที่สำคัญคือประเทศเหล่านี้พวกพรรคการเมือง พวกประชาสังคม (Civil Society) ยังมีลักษณะเป็นสถาบันทางการเมืองในประชาธิปไตยที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอ ทำให้ Function การแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง (Conflict) ตามกรอบของประชาธิปไตยที่ทำให้ความรัฐเกิดความมั่นคงมันไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นประเทศแบบนี้จึงเปิดช่องให้ทหารเข้ามา ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในประเภทประเทศแบบนี้

การอบรมในโรงเรียนนายร้อย ในโรงเรียนเหล่าทัพต่างๆ ก็จะพูดถึงชาตินิยม พูดถึงวีรกรรมของทหารในการปกป้องบ้านเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อตรงนี้มันมาบรรจบมาผนึกกัน ทหารก็เลยมีข้ออ้างพอสมควรและมีความคิดที่มันฝังรากอยู่ในการอบรมทางการทหาร ทั้งเรื่องชาตินิยมและสอนว่าทหารมีบทบาทเป็นผู้พิทักษ์บ้านเมืองในสังคมอันดีงาม ในขณะเดียวกันก็อบรมรุ่นให้เข้มแข็ง อบรมให้รักพวกพ้อง และอบรมให้พวกเขามีวัฒนธรรมองค์กรที่เฉพาะ มีลักษณะหลายอย่างที่คิดไม่เหมือนประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ในเมื่อมันเป็นแบบนี้กองทัพจึงมีลักษณะพิเศษ มีระบบคิดเฉพาะ

ทหารผู้รักษาความสงบ

กว่า 5 ปีภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีการตั้งคำถามว่า แม้ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นภายใต้บทบาทผู้พิทักษ์ทางการเมือง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง “สงบ” จริงหรือไม่

ข้อมูลจากเว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ ทำให้ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งนี้เข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังวัน รวมทั้งสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่งผลให้มีคนถูกตั้งข้อหานี้แล้วอย่างน้อย 338 คน ภายหลัง คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ผศ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์และความรุนแรง สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้จากความรุนแรงและจากการรัฐประหารหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า มีการสร้างวาทกรรมว่าการรัฐประหารในประเทศไทยนั้นเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีความรุนแรง

 

มันจริงที่ว่าตอนยึดอำนาจมันไม่มีการปะทะกันไม่มีคนได้รับบาดเจ็บล้มตายจากวันที่ยึดอำนาจ แต่เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้นมันมีคนประสบเภทภัยทั้งถูกดำเนินคดีหรือไม่สามารถออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ อะไรแบบนี้มันก็เป็นความรุนแรงทางการเมืองแบบหนึ่ง

 

ทั้งนี้ การยึดอำนาจหรือการทำรัฐประหาร คือความรุนแรงที่สำคัญอย่างหนึ่งทางการเมือง แต่คนมักนึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างเช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับรัฐไทยและเกิดความรุนแรงขึ้น และแทบจะไม่มีการเขียนถึงเหตุการณ์นี้เขียนลงในตำราเรียนหรือต่างๆ เลย คืออาจมีเขียนบ้างแต่ก็อยู่ในสื่อที่ไม่ได้เปิดให้คนส่วนใหญ่เข้าถึง

กว่าจะถึงเลือกตั้ง

 

ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปีนี้ รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง

 

เลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 1

เดือนกุมภาพันธุ์ ปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยบอกว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 หากรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านการพิจารณาของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นสภาที่ คสช.แต่งตั้ง แต่ในภายหลัง คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากเดิมไม่มีขั้นตอนนี้ ทำให้โรดแมปของการเลือกตั้งเลื่อนออกไป และนี่นับเป็นการเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่หนึ่ง

 

เลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 2

 

ในเดือนมิถุนายน 2558 สปช. มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ด้วยมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 กรธ. ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเปลี่ยนตัวมือร่างรัฐธรรมนูญจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้ คสช. ยังอยู่ในอำนาจการบริหารต่อไป และนับเป็นการเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 2

 

เลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 3

 

ร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดไว้ว่า กรธ. ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาของโรดแมปเลือกตั้งว่าต้องรอ กรธ.ร่างกฎหมายลูกอีก 8 เดือน จากนั้นอีก 5 เดือนจึงจัดการเลือกตั้ง ในเวลานั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2560

ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายนปี 2559 นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปดังกล่าว แต่สุดท้าย ปลายปี 2560 ก็ไม่เกิดการเลือกตั้งแต่อย่างใด นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป

 

การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 4

 

การหารือแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ที่สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังการหารือร่วมกับ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า “ตนเองได้พูดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ในการเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตยสากลนั้น จะเป็นไปตามโรดแมป ในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น ...โดยยืนยันว่าจะประกาศเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน”

นี่เป็นครั้งที่ 4 ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการเลือกตั้ง ในครั้งนี้คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 แต่สุดท้ายการเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้น เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ยืดระยะเวลาบังคับใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 5

 

เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 กลับไม่วี่แววว่ารัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้งผ่านพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอว่า ให้เลื่อนไปจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 หรือ 31 มีนาคม เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนระหว่างกิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ท้ายที่สุด ก็มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมเป็นไปตามข้อเสนอของนายวิษณุ

 

ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ เพื่อใคร ?

 

 

 

วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน รวมทั้งหมด 500 คน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 ที่มาจากการสรรหาและการคัดเลือกโดย คสช. วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในช่วง 5 ปีแรก ส.ว.ทั้ง 250 คน สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส.ได้

ศ.อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ว่า ที่ต้องยกเลิกระบบ 2 บัตร "บัตรแรกกาคนที่รัก บัตรสองกาพรรคที่ชอบ" เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกได้ทั้งพรรค เพราะไม่ต้องการให้คะแนนของพรรคที่ไม่ชนะการเลือกตั้งในระดับเขตกลายเป็นเสียงตกน้ำ และสามารถกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ไม่รู้สึกว่าพรรคที่ตนเองเลือกน่าจะแพ้ และไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถึงแม้ไม่ชนะในเขตแต่คะแนนเสียงแต่คะแนนเสียงที่ลงไปอาจทำให้พรรคนั้น ๆ ได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในส่วนของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เราเห็นว่าระบบ 2 บัตร อย่างในอดีต มันสะท้อนการได้คะแนนเพิ่มของพรรคการเมือง ระบบนั้นมันทำให้คะแนนเสียงของพรรคได้ดับเบิลหรือเป็น 2 เท่า แทนที่เสียงจะมีความหมายเพียง 1 คะแนนเท่านั้น แต่ระบบของเราเนี่ย ไม่ได้ตัดคนที่ประชาชนชอบ เพราะถ้าเลือกใครแล้วชนะได้ที่ 1 คนนั้นก็เป็น ส.ส.ระบบเขต ขณะที่เสียงของคนทั่วประเทศก็มีความหมายต่อที่นั่งในสภาในระบบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ


เมื่อถามถึงที่มาของ ส.ว. ที่มาจาการคัดเลือกและสรรหาของ คสช.นั้น อดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า ก็ไม่แปลกที่จะมีคนคิดว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ คสช.จะเลือกมาจำนวน 250 คน ไม่ว่าจะมาจากประชาชนเลือกกันเองมาแล้วส่วนหนึ่งรวมกับส่วนที่ คสช. ให้กรรมการสรรหาไปสรรหามา แล้วส่งให้ คสช. เป็นคนคัดเลือกอีกรอบนั้น จะไม่เป็นคนกลุ่มที่ คสช.เห็นว่ามันคุยกันได้เหรอ

มันมีเหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้ได้เหมือนกัน ในทางความเป็นจริงเราพบว่าในท้ายที่สุด ส.ส.จะเป็นคนที่กำหนดความเป็นไปทางการเมืองเป็นหลัก เพราะถึงแม้ว่า 250 คนของ ส.ว.จะทุ่มไปให้กับใคร เพื่อให้เขามีคะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ว.กับ ส.ส. รวมกัน หรือ 375 เสียง คนนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่า ส.ว.มีส่วนเลือกได้ด้วย
แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมากของทั้ง 2 สภา ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ตราบใดที่ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะสภาผู้แทนราษฎร คือ ผู้ที่จะมาคุมการบริหารงานของรัฐบาลอย่างแท้จริงนะครับ เพราะว่าในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้เสียง ส.ส.รวมกับเสียง ส.ว.ใช้เพียงเสียง ส.ส. เท่านั้น

เพราะฉะนั้นตราบใดที่คนที่มาจากเสียงข้างมากของ 2 สภายังไม่มีเสียงข้างมากใน ส.ส. ท่านจะจัดการบริหารประเทศยากมาก อันนี้เป็นเรื่องที่คนที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว

ขณะที่ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า อาจจะได้เห็นภาพรัฐสภาไทย ที่มี ส.ส.ที่ประชาชนเลือก 500 คน มาจากผู้ลงคะแนนเสียงประมาณ 30 - 40 ล้านคน และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 15 คน กลายเป็นว่า คสช.จำนวน 15 คน มีอำนาจเลือกผู้แทนของตัวเองจำนวน 250 คน หรือ ครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ส.ส. 500 คน มีประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้ง 30 ล้านคน แปลว่า คสช.นั้นมีเสียงเท่ากับเสียงประชาชนจำนวน 15 ล้านคน

อันนั้นคือปัญหาของระบบเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญรอบนี้ มันเป็นไปได้อย่างไรที่ คสช.ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนใครเลย มีอำนาจเป็นคนเลือกผู้แทนฯ เข้าไปในสภา นอกจากนั้น ผู้แทนฯ ที่ คสช.เลือกยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่ากับคนจำนวน 30 ล้านคน จากจำนวนคนผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 50 ล้านคน ระบบเลือกตั้งนี้ไม่เคยมีในประเทศไทย อย่าพูดว่าตอนนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ เลยต้องเกิดกติกาแบบนี้
รอบนี้ คสช.ยังใช้มาตรา 44 มารื้อการจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว และ กกต.ได้แถลงต่อสาธารณชนไปแล้ว อันนี้ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่คนติดตามข่าวการเมืองมองว่า มันคือสัญญาณการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพราะว่าจริง ๆ แล้ว กกต.มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ และ กกต.เองได้ทำทุกอย่างตามกระบวนการทางกฎหมายรวมถึงฟังความเห็นประชาชนอย่างครบถ้วน ถึงวันนี้ยังไม่มีคำอธิบายจาก คสช.ว่าเข้ามายุ่งเรื่องนี้ทำไม

 

 

สำหรับเหตุผลที่จัดให้ผู้สมัครของแต่ละพรรคมีเบอร์ไม่เหมือนกันในแต่ละเขตนั้น อดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายแนวคิดนี้ว่า ต้องการให้ประชาชนคิด ไม่ต้องการให้มีการฮั้วกันในระบบการเมือง จริงอยู่ว่าฟังแล้วอาจจะดูขัดกันอยู่บ้างว่าไหนบอกว่าต้องการให้เลือกพรรค แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบการเมืองไทยยังมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันอยู่ ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ได้สนใจพรรคการเมืองมากนัก อาจสนใจคนหรือผู้สมัครเป็นหลัก เราต้องการให้คนสนใจไปที่พรรคการเมืองมากขึ้นโดยที่พรรคการเมืองไม่ได้อาศัยสิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบและเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำคน

เพราะฉะนั้นตัวเลขที่บอกว่าทำไมไม่ให้เหมือนกันทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่เราตั้งใจ เพราะต้องการให้ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นคิดมาก่อนแล้ว ไม่ใช่มีคนบอกว่าให้ไปเลือกเบอร์นี้ก็ไปเลือกเบอร์นี้ เราอยากเห็นประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจไปใช้สิทธิของเขาด้วยความคิดและสติสัมปชัญญะ

 

พลังประชารัฐชู "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติเลือก 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

นายศิโรตม์ มองว่า ต่อจากนี้การวางตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสิ่งสำคัญ เพราะตอนนี้อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในความไม่ปกติ มีความรู้สึกในสังคมว่าหัวหน้า คสช.จะสืบทอดอำนาจของตนเอง ใช้อำนาจทางรัฐเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาความรู้สึกนี้มันมีมูล ผ่านการกดดันให้คณะรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเขียนรัฐธรรมนูญโดยคุณมีชัย ระบุว่า รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ไม่ต้องเป็นรัฐบาลรักษาการ ขณะที่ในอดีตเมื่อมีการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกชุดจะเป็นรัฐบาลรักษาการ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงรัฐมนตรีล้วนพ้นสภาพจากตำแหน่ง จะใช้งบประมาณอะไรไม่ได้ สั่งข้าราชการในงานทางการเมืองต่างๆ ไม่ได้ การที่กำหนดให้รัฐบาลยังมีอำนาจเต็มในเวลานี้ ก็ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่าอาจมีการใช้คำสั่งหรืองบประมาณเพื่อช่วยผู้สมัครของพรรคในบางเขตได้

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวางตัวของนายกรัฐมนตรี การใช้อำนาจรัฐและมาตรา 44 แทรกแซงการเลือกตั้ง เป็นปัญหาที่ 1 ปัญหาที่ 2 คือ การไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐกับการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐเป็นปัญหาที่ 2 และการที่รัฐบาลมีอำนาจเต็ม ทำให้เกิดปัญหาข้อที่ 3 ที่ทำให้คนคิดว่านายกฯ จะใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยพรรคที่นายกฯ ต้องการ จึงขึ้นอยู่กับการวางตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะแยกระหว่างสวมหมวกที่ทับซ้อนกันได้หรือไม่ หมวกที่ 1 คือ หมวกหัวหน้า คสช. หมวกที่ 2 คือ หมวกนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันซึ่งมาจากการรัฐประหาร และหมวกที่ 3 คือ คนที่อยากจะเป็นนายกฯ ต่อไปในอนาคต

 

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งบนสมการ “อำนาจนิยม” หรือ “ประชาธิปไตย”

ผศ.ดุลยภาค มองการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งว่า เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะในระบบการเมืองแบบ Hybrid หรือ ลูกผสม มันจะมีบางมิติหรือบางช่วงที่มันไม่ราบรื่น ผันผวน ปะทะ งัดข้อกัน

ถ้าหากสามารถจัดการปัญหานี้ได้ ก็จะอยู่ร่วมกันได้ แต่หากแก้ไขไม่ได้ก็จะเกิดความเกรี้ยวกราด ความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่สภาวะทางการเมืองที่มันผันผวนเกิดคาดเดา ผมจึงมองว่า ลักษณะนี้เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของรัฐที่มาจากเผด็จการ แต่ว่ามันจะไม่ใช่เผด็จการแบบเขม็งเกรียว มันมีการเปิดช่องเปิดพื้นที่ให้กับภาคการเมืองกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น อย่างเช่นที่ คสช. กำลังทำ

 

มันมีสมการอันนึงนะครับที่แหลมคม และมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย สมการแรก ก็คือ มีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพมาก มีการทะเลาะเบาะแว้งมาก โดยไม่มีเนเจอร์ (Nature) ของเผด็จการเข้ามาควบคุม มันมีค่าเท่ากับอนาธิปไตย คือความสับสนวุ่นวาย ความเป็นรัฐไม่สามารถดำรงอยู่ได้

สมการที่ 2 คือ มีเผด็จการเข้มงวดเลย แต่ไม่มีประชาธิปไตย มีแต่กฎระเบียบเข้มงวด ออกมาตรานู้น มาตรานี้ แล้วเป็นกฎระเบียบที่ไมได้มาจาก Rule Of Law ด้วย แต่เป็น Rule By Man แล้วก็ยังไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาช่วยตัดสินใจในนโยบายต่างๆ มันก็มีค่าเท่ากับเผด็จการ


สังคมทุกวันนี้ยืนอยู่ระหว่าง 2 สมการ เพราะฉะนั้นประเทศต้องเลือก หรือถ้าไม่เลือกก็ต้องปรับให้สมการทั้ง 2 อันนี้มันดีขึ้น ตอนนี้เรากำลังเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ว่าฝ่าย คสช. พูดเสมอว่ามีประชาธิปไตยแล้วเดี๋ยวก็ตีกันอีก แล้วก็มีแต่กองทัพที่เข้ามาแก้ปัญหาการตีกันตรงนั้นได้ นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่จุดสำคัญ คือเรากำลังอัพเกรด (Upgrade) สมการทั้ง 2 ตัว นี้ให้มันเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยมากขึ้นแต่ยังไม่ทิ้งเผด็จการ แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นสังคมแบบรัฐขุนศึกอยู่ เป็นสังคมที่ผู้นำบอกว่า เฮ้ย มึงตีกันอ่ะ ตีกันแล้วเหมือนจะไม่มีฝ่ายไหนเลยเข้ามาจัดการปัญหา กับสถานการณ์นี้ได้นอกจากกองทัพ ดังนั้น ทหารก็ยังมีบทบาททางการเมืองต่อ”

ยอมรับกติกาเสียงส่วนใหญ่ เคารพความเห็นต่าง สามารถเปิดทางให้ประชาธิปไตยได้

ด้าน ผศ.อรอนงค์ มองว่า หากทุกฝ่ายยอมรับกติกาว่าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศเลือกอย่างไร ยอมรับในเสียงของปัจเจกบุคคล ดีกว่าวังวนอยู่ในความสงบจอมปลอมที่ดูสงบแต่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงในทางอื่นที่เรามองไม่เห็น ประเทศไทยควรดำเนินไปตามแนวทางประชาธิปไตย มีตัวแทนของแต่ละภาคส่วนเข้าไปกำหนดนโยบายต่างๆ เพราะในตอนนี้ระบบการตรวจสอบคณะรัฐมนตรีมีปัญหามากๆ แทบตรวจสอบไม่ได้เลย ถ้าหากมีการเลือกตั้งแล้วทุกฝ่ายยอมรับกติกา มันก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่คงไม่สามารถพลิกไปสู่ประชาธิปไตยได้เต็มที่ เพราะเมื่ออยู่ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มที่ก็ต้องใช้ระยะเวลานานในการเปลี่ยนผ่าน

อันดับแรกก็คือกฎหมายต่าง ๆ นานา ที่เป็นมรดกตกทอดจาก คสช.ร่างและวางเอาไว้ เพราะว่าอะไรก็ตามที่ถูกร่างขึ้นมาโดยกลุ่มที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนเราก็คงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย แค่การที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันก็ไม่รู้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มันคงต้องมีการแก้ไขและชำระรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันใหม่ นอกจากนี้ การที่ ส.ว.มีที่มาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แบบนี้ก็ไม่น่าเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มที่

ในเบื้องต้นหากต้องการนำสังคมไทยให้เข้าสู่ประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือต้องสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มีความขัดแย้งให้ได้ เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเกิดกระบวนการนี้ขึ้น โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ที่เห็นต่างกัน ไม่ลงรอยกัน สามารถคุยกันได้อยู่ร่วมกันได้ เมื่อมองกลับมาที่ส่วนกลาง

ส่วนตัวเห็นว่าควรเกิดกระบวนการนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้คนที่เห็นต่างไม่ต้องมาฆ่ากัน ฆ่ากันในทีนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงการทำร้ายร่ายกายเท่านั้น แต่หมายถึง การฆ่ากัน การด่ากัน ในทางอินเทอร์เน็ตที่พบข้อความแสดงออกว่าเราไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เลย ไม่สามารถประนีประนอมกันได้เลย เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งมันควรมีจุดที่ประนีประนอมกันได้ สามารถอยู่ร่วมกับความเห็นต่างได้ โดยไม่ลุกขึ้นมาฆ่ากันจริง ๆ

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง