ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 175 คน ในพรรคการเมืองรวม 22 พรรค มารอจับสลากเพื่อลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 9 เขต ของ จ.เชียงใหม่ หลังจากการเลือกตั้งห่างหายมานานกว่า 5 ปี ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 1.7 ล้านคน ที่กระจายอยู่ใน 25 อำเภอ ถูกแบ่งออกเป็น 9 เขตเลือกตั้ง ซึ่งก็แบ่งตามความหนาแน่นของจำนวนประชากรในแต่ละอำเภอ เฉลี่ยแล้วแต่ละเขตจะมีประชากรประมาณ 1.9 - 2 แสนคน
จ.เชียงใหม่ เป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่แบ่งเขตเลือกตั้งมากที่สุด และแน่นอนว่าจะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ 6 พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทั้ง 9 เขตฐานเสียงเดิมอย่างพรรคเพื่อไทยที่เคยชนะทุกเขตเลือกตั้งในอดีต ครั้งนี้ก็ยังต้องจับตามองว่าผู้ลงสมัครทั้ง 9 คน จะสามารถเรียกคะแนนจากชาวเชียงใหม่ได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะหนึ่งในผู้ลงสมัครก็บอกว่ายังประมาทไม่ได้
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ก็วางตัวผู้ลงสมัครที่มีประสบการณ์และฐานเสียงไว้มากเช่นกัน โดยเฉพาะนางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ที่ลงสมัครในเขต 4 ที่เคยเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และมีฐานเสียงเก่าอยู่ไม่น้อย
การเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ ก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้ก็มีผู้ลงสมัครที่เป็นกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยงในเขต 9 มาลงสมัครใน 4 พรรคการเมือง ซึ่งพวกเขาก็ต้องการเข้ามาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์
ผศ.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า การเมืองในจ.เชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และพรรคการเมืองที่ลงสมัครแต่ละพรรคมักจะชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในเมืองเชียงใหม่เป็นที่ที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ผศ.ไพลิน ยังมองว่า พรรคเพื่อไทยยังมีฐานเสียงที่เข้มแข็งอยู่ แต่การเลือกตั้งที่หายไปนาน ทางพรรคจะมีแนวทางรับมือปรับกลยุทธ์ไว้อย่างไรบ้าง และแม้จะมี ส.ส.บางคนย้ายพรรคการเมืองก็ถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญมากนัก