ตลอดระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร ที่ติดแม่น้ำโขงของ จ.มุกดาหาร ถูกใช้เป็นที่ลักลอบนำเข้าและส่งออกของเถื่อนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา สินค้านำเข้ายอดนิยมคงหนีไม่พ้นกระเทียมจากประเทศจีนที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้ปีละหลายพันตัน แต่สำหรับการลักลอบส่งออก หนึ่งในสินค้าที่พบมากคงหนีไม่พ้น สุกร หรือ หมู นั่นเอง
ราวเดือนมิถุนายน 2561 ทีมข่าวได้รับข้อมูลว่าพื้นที่บ้านทรายทอง ต.บางทรายน้อย อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร มีการลักลอบส่งสุกรออกนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง ทีมงานจึงเข้าตรวจสอบ สิ่งที่พบคือบ้านหลายหลังมีกรงสำหรับเคลื่อนย้ายหมูอยู่จำนวนมาก แต่หากพบกรงอยู่ในบ้านอย่างเดียวอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่น่าสนใจคือทีมข่าวยังพบกรงสำหรับเคลื่อนย้ายหมูจำนวนมากวางอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งสร้างความสงสัยว่าเหตุใดกรงเหล่านั้นถึงมาอยู่ที่นี่ได้
ปลายเดือนธันวาคม 2561 ทีมข่าวกลับไปที่บ้านทรายทองอีกครั้งและใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ ติดตามพฤติกรรมผู้ลักลอบส่งสุกรออกนอกราชอาณาจักร พบว่า ผู้ประกอบการมีอยู่ 4 - 5 ราย ทั้งหมดจะสั่งหมูจากทั่วภาคอีสานมาเก็บไว้ในบ้านครั้งละ 20 - 30 ตัว เมื่อถึงเวลาจะนำหมูใส่ในกรงสำหรับเคลื่อนย้าย ก่อนนำหมูขึ้นรถลากซึ่งพ่วงอยู่กับมอเตอร์ไซค์ ทยอยขนไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจากนั้นจึงนำขึ้นเรือที่จอดรออยู่
เมื่อนำหมูขึ้นเรือได้จำนวนที่ต้องการแล้ว จึงขับเรือมุ่งหน้าออกไปส่งยังประเทศลาว โดยข้อมูลจากสายข่าวระบุว่ามีโรงฆ่าสัตว์อยู่ริมแม่น้ำโขงที่บ้านท่าสะโน และบ้านดอนเซ็ง ในเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยจะส่งทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
พื้นที่ที่พบว่ามีการลักลอบส่งสุกรออกนอกราชอาณาจักรอยู่ในพื้นที่บ้านทรายทองห่างจากหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 2344 ราว 100 เมตร
เส้นทางที่ใช้สำหรับขนส่งสุกรไปริมแม่น้ำโขงในช่วงแรกเป็นทางขนาดเล็ก รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้ทีละคัน สองข้างทางมีบ้านซึ่งมีกรงหมูจำนวนมากอยู่ในนั้น เมื่อผ่านเขตชุมชนเส้นทางจะตัดผ่านทุ่งนาก่อนผ่านป่าและไร่ข้าวโพดมุ่งหน้าลงสู่แม่น้ำโขง
แรงจูงใจ : ส่วนต่างราคาหมูไทย-หมูลาว
ทีมข่าวสำรวจตลาดการค้าสุกรในประเทศลาว ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการชาวลาวคนหนึ่งว่าราคาสุกรมีชีวิตของประเทศลาวปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 17,000 กีบ หรือประมาณ 70 - 80 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ราวกิโลกรัมละ 5 - 15 บาท
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนด้านต่างๆ เช่น อาหารสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆในการเลี้ยงที่ประเทศลาวมีราคาแพงกว่าเพราะต้องนำเข้าจากประเทศไทย
ส่วนราคาเนื้อสุกรที่ตลาดจะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 25,000 - 30,000 กีบ หรือราว 120 - 130 บาท สูงกว่าราคาเนื้อสุกรในประเทศไทยราว 5-10 บาท
ตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่าหากสามารถนำสุกรที่มีต้นทุนต่ำในประเทศไทยไปขายในประเทศลาวได้จะทำให้ผู้ค้าได้กำไรมากกว่าการขายภายในประเทศไทย แต่โดยทั่วไปประเทศลาวอนุญาตให้ให้นำเข้าเฉพาะสุกรแม่พันธุ์หรือลูกสุกรเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้าสุกรขุนโตเต็มวัยเพื่อนำไปเข้าโรงฆ่าสัตว์โดยตรง ทำให้การส่งสุกรขุนมีชีวิตไปขายในประเทศลาวอย่างถูกต้องตามกฎหมายทำได้ยาก จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้วิธีลักลอบส่งสุกรผ่านทางช่องทางธรรมชาติ
จับหมูไม่หมู
ข้อมูลจากด่านกักกันสัตว์จังหวัดมุกดาหารระบุว่าการส่งออกสุกรในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ต้องผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เท่านั้น การส่งสุกรออกทางช่องทางธรรมชาติเป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม การจับกุมต้องทำขณะที่ผู้กระทำผิดกำลังนำสุกรลงสู่เรือในแม่น้ำโขงหรือขณะกำลังนำสุกรออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งนับเป็นความยากในทางปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่จะพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวเพราะผู้กระทำผิดจะมีการวางเวรยามเป็นระยะ นอกจากนี้สภาพพื้นที่ยังเอื้อต่อการลักลอบกระทำผิดเพราะบ้านทรายทองอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงเพียง 500 เมตร
ถ้าจะจับกุมต้องอยู่ในขั้นตอนระหว่างขนจากริมตลิ่งลงเรือ เพราะฉะนั้นถ้าเขาเอาหมูไปวางไว้ริมตลิ่งเฉย ๆ ก็ไม่สามารถจับได้ พฤติกรรมคือต้องมีการส่งออกนอกราชอาณาจักรชัดเจนถึงจะทำได้
ดังนั้นบางที่ที่เขามีบ้านที่ติดริมตลิ่งเขาก็เลี้ยงไว้หลังบ้าน เราจะไปจับกุมเขาเลยก็ไม่ได้ จะเข้าไปในยามวิกาลหรือที่มีรั้วรอบขอบชิดก็ไม่ได้ ผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมาด่านกักกันสัตว์จังหวัดมุกดาหารได้ขอความร่วมมือจากทหาร ตำรวจรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยป้องกันการกระทำผิด โดยในช่วงปี 2560-2561 สามารถจับกุมการลักลอบนำสุกรมีชีวิตข้ามประเทศในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารได้ทั้งสิ้น 4 ครั้ง แบ่งเป็นการลักลอบส่งออก 3 ครั้ง ลักลอบนำเข้า 1 ครั้ง ยึดสุกรของกลางได้ทั้งหมด 11 ตัว โดยสุกรที่ถูกยึดได้จะถูกนำมาเก็บไว้ที่ด่านกักกันสัตว์เพื่อรอขายทอดตลาด