วันนี้ (5 ต.ค.2561) องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) เปิดตัว “ใหม่” ดาวิกา โฮร์เน่ นักแสดงชื่อดีง เป็นทูตด้านช้างคนล่าสุด พร้อมเปิดโฆษณารณรงค์เพลงข้าง เพื่อชวนทุกคนหยุดซื้อ หยุดใช้และหยุดรับผลิตภัณฑ์งาช้างภายใต้โครงการรณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง
ใหม่ ดาวิกา เล่าว่า ตอนไปถ่ายทำแคมเปญนี้ ยังไม่รู้สึกสะเทือนใจ แต่หลังจากที่ได้ดูการตัดต่อภาพยนตร์โฆษณานี้แล้วก็รู้สึกสะเทือนใจที่เห็นภาพช้างถูกฆ่าเอางา และยินดีที่ได้ร่วมโครงการนี้ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรักช้างและร้องเพลงช้างด้วยกัน เพราะเห็นช้างมาตั้งแต่เด็ก พอโตมาแล้วเห็นข่าวปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับช้าง ก็ต้องการให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันไม่ซื้องาช้างมาประดับร่างกาย
นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์องค์กรไวล์ดเอด กล่าวว่า แต่ละปีมีช้างแอฟริกาถูกฆ่า 33,000 ตัวเพื่อเอางา แม้ว่าแนวโน้มการฆ่าช้างแอฟริกาจะลดลงจากช่วงที่วิกฤตในปี 2554 แต่จำนวนช้างที่ถูกฆ่ายังสูงเมื่อดูภาพรวมทั้งทวีป และประชากรช้างแอฟริกามีแนวโน้มลดลง
ผลการวิจัยผู้บริโภคงาช้างของยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมิ.ย.2561 ระบุว่า ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างเป็นของขวัญในวาระต่างๆ และผลิตภัณฑ์ที่ได้ความนิยมสูงสุดคือ เครื่องประดับ และอัญมณีผู้หญิงเป็นกลุ่มบริโภคหลัก เพราะเชื่อว่าสวยงาม
สัญญาณดี “ไซเตส” ปรับสถานะอีกรอบ
ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีทีไซเตส พอใจกับการแก้กับปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายของไทยจากเดิมที่เป็น Primary Concern มาเป็น Secondary Concern และล่าสุดตอนนี้ไทยไม่ต้องส่งแผนปฏิบัติการให้กับไซเตสแล้ว
พร้อมยอมรับว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นและความสำเร็จนี้เกิดจากรัฐบาล คสช.โดยพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีการผลักดันให้ออกกฏหมายงาช้างปี 2558 และมีมาตรการในการปราบปรามการค้างาช้างอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้ ข้อมูลหลังประเทศไทยออกกฎหมายควบคุมการค้างาช้าง ปัจจุบันมีร้านค้างาช้างจำนวน 100 แห่งคิดเป็นร้อยละ 47 จาก 215 ร้านที่ได้แจ้งยกเลิกการค้างาช้างด้วยความสมัครใจ และการซื้อขายงาช้างถูกกฎหมายที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วก็ลดลงถึงร้อยละ 58 หากเทียบกับกลางปี 2559
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาค้างาช้างยังจำเป็นต้องมีการใช้กฎหมาย ควบคู่กับการรณรงค์คนในสังคม นักท่องเที่ยว เพื่อลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากงาช้างให้ลดลง