เกือบ 2 ปีแล้วที่ โนบิตะ-ชิซุกะ 2 ลิงอุรังอุตังได้อาศัยอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด
แม้ปัจจุบันลิงอุรังอุตังทั้ง 2 ตัวจะอ้วนท้วนสมบูรณ์และสุขภาพแข็งแรงแต่กว่าจะสามารถทำให้โนบิตะและชิซุกะใช้ชีวิตอย่างปกติได้นั้นผู้เลี้ยงยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
ภาพของลูกลิงอุรังอุตัง 2 ตัว ที่กำลังกอดกันตัวสั่นและส่งเสียงร้องด้วยความหวาดกลัวเหมือนเด็กเล็กยังคงอยู่ในความทรงจำของเขาเสมอมา
คำบอกเล่าของ "เพชรรัตน์ แสงชัย" ที่ปรึกษาด้านการบังคับใช้กฎหมาย USAID Wildlife Asia ที่เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงภารกิจล่อซื้อลูกลิงอุรังอุตังทั้ง 2 ตัว แม้จะผ่านมานานเกือบ 2 ปี
หากย้อนกลับไปในเดือน ธ.ค.ปี 2559 ข้อความประกาศขายลูกลิงอุรังอุตัง 2 ตัว ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ในช่วงปลายปี 2559 โดยผู้สื่อข่าวชาวแอฟริกาคนหนึ่งสนใจที่จะซื้อลูกลิงอุรังอุตังทั้งสองในราคา 700,000 บาท เขาอ้างว่าต้องการนำลูกลิงทั้งสองมาเลี้ยงเพื่อเป็นลูก หลังติดต่อสั่งซื้อผ่านออนไลน์ ผู้ขายได้นัดให้ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวมารับลูกลิงทั้ง 2 ตัวที่ประเทศไทย พร้อมให้โอนเงินมัดจำล่วงหน้าจำนวน 200,000 บาท
เมื่อต้องเดินทางมารับลูกลิงอุรังอุตังที่ประเทศไทย ความหวาดกลัวอันตรายเริ่มเกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวแอฟริกาจึงติดต่อมายังมูลนิธิ Freeland เพื่อให้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าไอพีของผู้ขายนั้นเป็นคนไทยจึงได้เร่งดำเนินการวางแผนล่อซื้อแต่การต่อรองครั้งนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
เจ้าหน้าที่ ปทส.นัดหมายกับผู้ขายถึง 2 ครั้ง แต่ไม่พบแม้แต่เงา เนื่องจากผู้ขายยังคงระวังตัว โดยอ้างว่าเห็นตำรวจมารับลูกลิงอุรังอุตังด้วย เจ้าหน้าที่จึงพยายามติดต่อไปอีกครั้ง
เราติดต่อเขาไป 2 ครั้ง แต่ครั้งแรกเขาบ่ายเบี่ยงว่าเห็นตำรวจมาด้วย ส่วนครั้งที่ 2 เขาหลุดมาว่าต้องรอของที่กำลังมาจากทางใต้ ทำให้เราคาดการณ์ได้ทันที่ว่า ลูกลิงอุรังอุตังทั้ง 2 ตัวนี้เดินทางไกลมาจากประเทศอินโดนีเซีย
ที่ปรึกษาด้านการบังคับใช้กฎหมาย USAID เล่าว่า สถานการณ์ขณะนั้นไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผู้ขายเริ่มเงียบหายไปประมาณ 3 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่จึงให้ผู้สื่อข่าวแอฟริกาติดต่อไปโดยยืนกรานว่า ต้องเดินทางกลับประเทศแล้ว โดยจะส่งคนอื่นให้ไปรับของแทน
ใกล้จะถึงเวลานัดหมาย เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ผู้ขายขอเปลี่ยนสถานที่นัดรับลูกลิงทั้งสองอีกครั้ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปพบรถแท็กซี่ในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านสะพานควาย เจ้าหน้าที่เดินเข้าไปเคาะกระจกรถแท็กซี่ ก่อนคนขับจะส่งสัญญาณว่าลูกลิงอุรังอุตังทั้ง 2 ตัวอยู่ข้างล่างเบาะรถด้านหลังเจ้าหน้าที่เปิดประตูเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นลูกลิงอุรังอุตังจริง จึงส่งสัญญาณเข้าจับกุม
เสียงร้องปี๊ดด ราวกับเสียงเด็กดังเข้ามาในหูของผม พร้อมๆ กับกล่องพลาสติกที่ค่อยๆ เปิดออกมา ภาพลูกลิงตัวเล็ก 2 ตัวกอดกันแน่นเหมือนกับว่าพวกมันต้องพรากจากกันทำให้ผมรู้สึกทันทีว่าชีวิตที่เหลือของผมจะต้องทำงานเพื่อช่วยชีวิตสัตว์แบบลูกลิงทั้ง 2 ตัวนี้ให้ได้
หลังการจับกุมในวันนั้น เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนพบว่าคนขับรถแท็กซี่เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้นแต่ในภายหลังได้ทำการขยายผลจนสามารถจับกุมผู้นำเข้าลูกลิงอุรังอุตังได้เพิ่มอีก 1 คน
หลังการตรวจยึด ลูกลิงทั้ง 2 ตัว ถูกส่งมาอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี โดยมี "มยุรี ศรัทธาผล" เป็นผู้ดูแลมาตลอด
ตั้งแต่แรกที่รับลูกลิงอุรังอุตังทั้ง 2 ตัวเข้ามา ทั้งสองตัวจะเอาแต่กอดกัน ระแวงคนรอบข้าง กลัวว่าจะมีคนมาแยกเขาออกจากกันจนเกิดเป็นความเครียด และมีอาการท้องอืด ถ่ายเหลว พยายามพาตัวเองออกห่าง ไม่กล้าเข้าหาคน
มยุรี เล่าว่า โดยเฉพาะตัวผู้ถ้าเห็นว่าจะมีคนมาแยกตัวเมียออกจากกัน เขาจะเริ่มวิ่งไล่กัดคน หงุดหงิด และทำร้ายคนเลี้ยง แต่อยู่ไปสักระยะหนึ่ง เขาก็จะมีการปรับสภาพ คือ เริ่มเข้ากันได้กับคนเลี้ยง แต่หากเป็นคนแปลกหน้ามาก็ยังระแวงอยู่ หลังจากนั้น 1 ปี เจ้าหน้าที่ได้เริ่มเลี้ยงแยกกัน ลิงทั้ง 2 ตัวก็เริ่มอยู่แยกกันได้ เริ่มไว้ใจและติดคนเลี้ยงแทน
ส่วนพี่โน หรือโนบิตะจะเล่นพิเรนทร์ พอเริ่มแตะคนก็จะดูดแขนคน แต่ดูดไปดูดมาก็จะงับบ้าง หรือกระชากแขน ก็เลยต้องดูแลไม่ปล่อยให้ใกล้คนเยอะ
ขณะที่สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยง ระบุว่า ตอนแรกมามีภาวะเครียด จึงมีปัญหาเรื่องถ่ายเหลว ก็ให้ยาถ่ายพยาธิและยาฆ่าเชื้อตามอาการ แต่ตอนนี้กินง่าย แข็งแรง แต่ก็ยังต้องระวังการติดเชื้ออยู่
หยุดการค้า = หยุดการฆ่า ช่วย "อุรังอุตัง" ไม่สูญพันธุ์
นายเพชรรัตน์ย้ำว่า ปัญหาการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติเป็นอาชญากรรมที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน การขยายความรู้ด้านการใช้กฎหมายของพนักงานสอบสวนในพื้นที่รวมถึงการประสานงานระหว่างท้องถิ่นและ ปทส. พนักงานสอบสวนในพื้นที่สามารถส่งเรื่องเข้าส่วนกลางก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการผลักดัน
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ปทส.ทำงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงอาจมีข้อมูลที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้
ขณะที่สถานการณ์ความอยู่รอดของลิงอุรังอุตังถูกจัดให้เป็นสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยประชากรอุรังอุตังที่อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย กำลังวิกฤต เพชรรัตน์ย้ำว่า การจะนำลูกลิงอุรังอุตังมาค้าได้ นั่นหมายถึงชีวิตพ่อหรือแม่ของมันต้องจบลง โดยสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า
ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ประชากรลิงอุรังอุตังลดลงไปมากกว่า 100,000 ตัว และถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ภายในปี 2050 ลิงอุรังอุตังจะหายไปจากป่าอีกไม่ต่ำกว่า 45,000 ตัว
ขณะที่สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนของอุรังอุตังลดลงอย่างรวดเร็วก็คือ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการพาณิชย์ และเกือบร้อยละ 70 มาจากการล่าของมนุษย์
สัตว์ป่าของกลางส่วนใหญ่ ยังต้องใช้ชีวิตในกรมเลี้ยงเพื่อรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุด จึงจะส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ทำอย่างไร? เมื่อไทยยังเป็นทางผ่านค้าสัตว์ป่า
“ชีวิตแลกเงิน” วิกฤตอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
เปิดภารกิจเยียวยา "เสือ" ติดคดี
วิกฤต "ไซเตส" จับตาฟาร์มเสือไทยแหล่งค้า