วันนี้ (9 ก.ค.2561) นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในการช่วยเหลือเยาวชนติดถ้ำในขั้นที่ 3 (ส่งกลับ) ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ศอร.) ใช้รหัสเรียก "หมูป่า" แทนการเรียกชื่อเยาวชน เพราะการนำใครออกมาก่อน เป็นความพร้อมของเด็กแต่ละคนที่ยังแตกต่างกัน นอกจากนี้ในระหว่างปฏิบัติการแม้ประเมินแล้วว่าสามารถส่งกลับได้ แต่ก็ยังเป็นสถานการณ์
และแม้การเริ่มต้นส่งกลับจะได้หมูป่า 4 ตัว มาพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังอยู่ในกระบวนการส่งกลับ – การไม่เปิดเผยชื่อขณะปฏิบัติการ จึงเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน และป้องกันความเข้าใจผิด ตลอดจนความรู้สึกใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมจากสังคม
ทั้งนี้ เพื่อนร่วมวิชาชีพจึงควรทำความเข้าใจและระมัดระวังการนำเสนอข่าว เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก และป้องกันการเกิดประเด็นทางจริยธรรม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สังคมกำลังติดตามและตรวจสอบการทำงานของพวกเรา
ภาพ : ปชส.เชียงราย
สมาคมฯเตือนจริยธรรมสื่อนำเสนอข่าวทีมหมูป่า
ขณะที่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้คำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล และผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในการรายงานข่าวกรณีเด็กและเยาวชนได้รับความช่วยเหลือออกจากถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน โดยระบุตอนหนึ่งว่า สมาคมฯเข้าใจดีถึงการแข่งขันในการเสนอข่าวต่อเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกขณะนี้ แต่เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน และเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของครอบครัวและญาติพี่น้องของคนเหล่านี้
จึงขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงพึงระมัดระวังในการเสนอข่าวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะการเปิดเผยภาพ ชื่อ ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ โดยให้คำนึงถึงจริยธรรมการเสนอข่าว สิทธิส่วนบุคคลและความเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้นยังควรละเว้นการเสนอข่าวและภาพที่อาจสร้างความสับสน ความเข้าใจผิด และความรู้สึกในเชิงลบต่อสถานการณ์ ตัวบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่ และผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวในพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อมวลชนไทยตกเป็นเป้าของการจับจ้อง และการตรวจสอบของสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสื่อมวลชนไทยที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าในสถานการณ์ที่ล่อแหลมและเต็มไปด้วยการแข่งขัน สื่อมวลชนไทยยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสร้างสรรค์และมีจริยธรรมเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของสื่อในสายตาของสังคมต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
"รพ.เชียงราย" ใช้แผนเดิมรองรับ 9 คนทีมหมูป่า-เฝ้าระวังโรคเสี่ยง