ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : มหันตภัยขยะไฮเทค "ขุมทรัพย์สารพิษ" ตอนที่ 2

13 มิ.ย. 61
13:40
1,263
Logo Thai PBS
เปิดปม : มหันตภัยขยะไฮเทค "ขุมทรัพย์สารพิษ" ตอนที่ 2
เด็กในชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องประสบชะตากรรมจากสารพิษตกค้างในร่างกายเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว แต่เพื่อปากท้องของครอบครัวพ่อแม่ยังต้องจำทนประกอบอาชีพนี้ต่อไป

ชุมชนเล็กๆ ที่คล้ายเป็นหมู่บ้านในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซ่อนตัวอยู่ภายในซอกซอยที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อว่า ซอยเสือใหญ่อุทิศ

ภายในชุมชนแห่งนี้มีเด็กๆ อยู่หลายครอบครัว แต่เด็กคนหนึ่งมีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่าเด็กทุกคนในชุมชน นอกจากผลเลือดที่มีค่าสารตะกั่วสูงมากแล้ว เธอยังป่วยด้วยโรคประจำตัว ทั้งหอบหืดและไข้หวัด ที่เป็นบ่อยจนคล้ายเป็นโรคประจำตัว

นอกจากครอบครัวเล็กๆ ที่ลูกกำลังป่วยด้วยสารตะกั่วในเลือดสูงที่กล่าวถึง ยังมีอีกหลายครอบครัว ที่ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานมาสร้างที่พักอาศัยแบบไม่ถาวรในซอยเสือใหญ่อุทิศตั้งแต่ปี 2526 ชาวบ้านที่อพยพมาส่วนหนึ่ง ยึดอาชีพรับซื้อของเก่าและคัดแยกขยะขาย ใช้รถซาเล้งเป็นพาหนะตระเวนไปตามชุมชนต่างๆ

 

ผลการตรวจเลือดหาสารโลหะหนักตกค้างในเลือดของเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ปี จำนวน 23 คนเมื่อหลายปีก่อน พบว่าเด็กในครอบครัวที่ทำอาชีพคัดแยกขยะขาย มีตะกั่วปนเปื้อนตกค้างในเลือดสูงกว่าเด็กจากชุมชนอื่นๆ ในเขตกรุงเทพมหานครถึง 3 เท่าตัว นอกจากตะกั่วแล้ว สารพิษอีกตัวที่น่ากังวลคือ แคดเมียม เนื่องจากสารพิษชนิดนี้มีคุณสมบัติที่แพร่กระจายและ ไปสะสมในพื้นที่อื่นๆ ได้

ผลศึกษาสารตะกั่วต่อพัฒนาการของเด็กในหลายประเทศ พบว่า เด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดที่ต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยทางกาย แต่หากตรวจสอบอย่างละเอียดอาจพบว่ามีการเจริญเติบโตทางสมองช้า ไอคิวต่ำลง หากมีสารตะกั่วในปริมาณมากไปกว่านี้จะเริ่มเห็นอาการโรคต่างๆ การรักษาก็จะเป็นไปตามอาการ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการป้องกันไม่ให้สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย

 

ชุมชนในซอยเสือใหญ่อุทิศ อาจเป็นตัวอย่างเล็กๆ ถึงผลกระทบของพิษสารปนเปื้อนจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพฯ เมืองที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีชิ้นส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ซึ่งขยะบางส่วนไม่ตกค้างในเมืองเท่านั้น แต่กลับถูกกระจายไปในชุมชนต่างจังหวัดที่รับซื้อของเก่า ก่อนนำไปคัดแยก

ที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กว่า 200 ครอบครัว จากทั้งหมด 1,826 ครัวเรือน 12 หมู่บ้าน ยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.บ้านหนองบัว และสำนักงานสาธารณสุข อ.ฆ้องชัย สุ่มตรวจเลือดชาวบ้าน ต.โคกสะอาด เมื่อ 3 ปีก่อน กลุ่มเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ ตรวจพบค่าตะกั่วในเลือดสูงและอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายมากถึง 21 คน

แต่ละเดือนมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 800 ตัน ถูกนำเข้ามาที่ ต.โคกสะอาด เพื่อถอดรื้อ แยกโลหะมีค่าออกมาจากซากเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น แม้รู้ว่าขยะเหล่านี้อาจปนเปื้อนด้วยสารตกค้าง แต่อะไรเป็นแรงจูงใจ?

หากแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า จะพบส่วนประกอบต่างๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น แผงวงจรจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ชาวบ้านซื้อต่อมาจากร้านรับซื้อของเก่าจากในเมือง เพื่อนำมาคัดแยกที่หมู่บ้าน ลงทุนซื้อมาในราคากิโลกรัมละไม่ถึง 50 บาท แต่หากแยกแผงวงจรออกมา อาจทำให้มีรายได้เกือบ 2,000 บาท เมื่อนำไปขายต่อ

อีกตัวอย่างหนึ่งคืออะไหล่คอมพิวเตอร์ โดยแผงวงจรคอมพิวเตอร์ขายได้ กิโลกรัมละ 700 บาท, แรม กิโลกรัมละ 700 บาท, ซีพียู โน้ตบุ๊ก  กิโลกรัมละ 1,000 บาท ส่วนชิ้นส่วนจากโทรทัศน์ หากแยกอลูมิเนียมและเหล็ก ขายได้ราคากิโลกรัมละ 45 บาท

 

นอกจากหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว ที่ ต.แดงใหญ่ และ ต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ และที่ ต.บ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ก็มีสภาพไม่ต่างกัน

ชาวบ้านประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขายมานานกว่า 10 ปี รายงานผลการตรวจสารพิษตกค้าในพื้นที่บ่อขยะ ต.แดงใหญ่ พบสารตะกั่วตกค้างสูงถึง 20,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานถึง 50 เท่า นอกจากนี้ยังพบสารหนู แคดเมียม และปรอท รวมอยู่ด้วย

ทั้งรายงานผลการตรวจสารปนเปื้อนตกค้าง และผลการรายงานด้านสาธารณสุข สอดคล้องกับข้อมูลด้านวิชาการว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์คือส่วนหนึ่งของสาเหตุเป็นขยะพิษอันตราย

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตรายและการประกอบกิจการอุตสาหกรรม รวมถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ แต่ไม่มีกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียวที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อ่าน ขุมทรัพย์สารพิษ ตอนที่ 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง