น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยความคืบหน้าในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าว่า ได้ประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นดำเนินการฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวไปแล้ว 2 ล้านตัว จากเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ 8 ล้านตัว
แต่สังคมก็ตั้งคำถามว่าวัคซีนเสื่อมคุณภาพหรือไม่ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน และพบการระบาดของโรคใน 24 จังหวัด ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า วัคซีนที่ปศุสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศได้มาตรฐาน อย. มีการจัดเก็บวัคซีนอย่างเป็นระบบในห้องควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาเซสเซียส กระจายอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ
และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสุนัข พบว่าสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากว่าร้อยละ 80 ไม่เคยผ่านการฉีดวัคซีนมาก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่าสาเหตุโรคระบาดไม่ได้เกิดจากวัคซีนเสื่อมคุณภาพ พร้อมกับย้ำว่า แต่ละปีปศุสัตว์จะจัดซื้อวัคซีนมาสำรองไว้ 1 ล้านโดส ราคาโดสละ 15 บาท เพื่อใช้ในยามวิกฤตฉุกเฉิน ซึ่งวัคซีนจะหมดอายุ 2-3 ปี ดังนั้นระหว่างการตรวจรับทุกล็อตจะต้องดูว่าวัคซีนต้องใช้ได้อย่างน้อย 15 เดือนขึ้นไป
ในปี 2561 ปศุสัตว์อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนใช้เอง แต่ยังต้องคำนึงคุณภาพ ต้นทุนการผลิต ความเหมาะสม ทั้งการจัดตั้งโรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยร่วมกับบริษัทผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ
ส่วนกรณีที่พบการระบาดในลิง โคและกระบือ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่าไม่ใช่การระบาดของโรคจากสัตว์สู่สัตว์ แต่เป็นเพราะสัตว์เหล่านี้สัมผัสเชื้อพิษสุนัขบ้า จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงโคและกระบือ ระยะนี้ควรเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนที่มีรั้วปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสโรค
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ "ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า" ว่าหากยังฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในคนที่ถูกสุนัขกัดครบ 28 วัน จะทำให้ในอนาคตวัคซีนไม่เพียงพอและใช้งบประมาณสูง แต่จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เสนอให้ใช้เวลาฉีดวัคซีนลดลงเหลือ 7 วัน คือ ฉีดเข็มแรก เว้นระยะ 3 วันฉีดเข็มที่ 2 และเว้นอีก 4 วันจึงฉีดเข็มสุดท้าย