วันนี้ (12 ก.พ.2561) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยศ.ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ ที่ทำงานของผู้กู้ยืม และไม่มาตรการเชิงบังคับการชำระหนี้ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการรวม 2 กองทุน คือ กยศ.และกรอ.มาบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจในการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืม ที่อยู่ในความครอบครองขององค์กรต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน
ส่วนการติดตามหนี้ ถือเป็นหน้าที่องค์กรนายจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อกองทุนได้แจ้งต่อนายจ้างอย่างเป็นทางการ นายจ้างต้องหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หลังจากนั้นต้องนำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลา พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้คืน
สำหรับผู้กู้ยืมมีหน้าที่จะต้องให้แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมต่อนายจ้างภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มปฏิบัติงาน และจะต้องยินยอมให้กองทุนฯ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืม และชำระคืน รวมถึงต้องยินยอมให้หักเงินเดือนตามจำนวนที่กองทุนแจ้ง เพื่อชำระคืนกองทุน

สำหรับแนวปฏิบัติ เพื่อทำความเข้าใจกับองค์กรนายจ้างหรือองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะออก แบบกฎกระทรวง และแนวปฏิบัติต่างๆ ของกองทุน เพื่อรองรับพ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงได้จัดเตรียมระบบนำส่งเงินชำระหนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ ในกลุ่มข้าราชการที่เป็นผู้กู้ยืม ซึ่งมีผู้กู้ทั้งหมด 170,000 ราย เป็นเงิน 16,000 ล้านบาท โดยในเดือนมิ.ย.นี้ จะหักเงินจากข้าราชการกรมบัญชีกลาง เป็นกลุ่มแรก ซึ่งมีผู้กู้กยศ.ประมาณ 100 คน
หลังจากนั้น ก็จะขยายไปสู่ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ และประมาณเดือน ต.ค.จะหักเงินเดือนในส่วนของภาคเอกชนต่อไป โดยกจะหักเป็นรายเดือน จากเดิมที่อนุญาตให้มีการชำระเป็นรายปี สำหรับสถานการณ์การชำระหนี้ของกยศ.ในระยะ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 นั้น ถือว่า มียอดใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เนื่องจากยังไม่สามารถหักเงินเดือนได้โดยตรงตามแผน แต่เท่าที่ประเมินการ ชำระหนี้ถือว่า มีแนวโน้มที่ดี ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่มียอดที่ผิดนัดชำระเพิ่ม