วันนี้(2 ส.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า หากดูทิศทางน้ำและสถานการณ์น้ำในเขื่อน โดยเฉพาะที่จ.สกลนครยังคงน่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำเต็ม
เขื่อนห้วยทรายขมิ้น ที่สันเขื่อนเสียหาย แต่ด้านบนเขื่อนนี้ยังมีเขื่อนห้วยน้ำบ่อ ที่รับน้ำไว้ก่อน ในวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เขื่อนนี้รับน้ำไว้จนล้นความจุที่กว่า 2 .4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับเขื่อนห้วยทรายขมิ้น และได้มีการเจาะสันเขื่อนเพื่อป้องกันเขื่อนแตก ทำให้น้ำระบายออกไปได้ เพราะขณะนั้นน้ำล้นสันเขื่อนแล้ว แต่ปัจจุบันเขื่อนแห่งนี้ก็ยังคงมีน้ำล้นออกทางสปิลเวย์อย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับเขื่อนห้วยน้ำเดียก ก็มีน้ำล้นสปิลเวย์เช่นกัน เขื่อนนี้มีความจุมากกว่าที่ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และรับน้ำมาจากเทือกเขาภูพาน ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร เขื่อนแห่งนี้ก็เป็นอีกแห่งที่เก็บน้ำไว้ โดยยังไม่สามารถระบายออกไปได้มาก เพราะยังมีภาวะน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง
ส่วนเขื่อนน้ำพุง ที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ความจุกว่า 165 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าระบายน้ำก็จะไหลไปสมทบกับลำน้ำก่ำที่ยังคงเกิดน้ำท่วม ขณะนี้จึงมีน้ำเก็บไว้ถึงร้อยละ 105
เช่นเดียวกับเขื่อนน้ำอูนทางตอนบน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาด 520 ล้านลูกบาศก์เมตร วันนี้ก็ยังมีน้ำเพิ่มขึ้นอีกเป็น 125 เพราะต้องช่วยชะลอน้ำไว้ไม่ให้ไปท่วมเพิ่มตามลำน้ำอูน ที่จะไหลออกไปทางอ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
แต่การชะลอน้ำเช่นนี้ ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เขื่อนมีความเสี่ยงถ้าเกิดฝนตกหนักจากพายุหรือหย่อมความกดอากาศซ้ำอีก เขื่อนที่พยายามชะลอน้ำไว้ก็อาจเกิดความเสียหายได้อย่างที่เคยเกิดขึ้น
ขณะที่กรมชลประทานคาดว่าน้ำในเมืองสกลนครจะแห้ง ภายในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ส่วนพื้นที่การเกษตรรอบหนองหาร จะแห้งภายใน 5 วัน ส่วนพื้นที่การเกษตรสองฝั่งลำน้ำก่ำจะแห้งภายใน 7-10 วัน
แต่ทั้งหมดนี้คือการคำนวนจากการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่เท่านั้นเพราะจนถึงขณะนี้เขื่อนต่างๆ ก็ยังคงระบายน้ำออกมาเพื่อพร่องน้ำไม่ได้มาก แม้ว่าสัปดาห์หน้ากรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ร่องมรสุมจะกลับมาในภาคอีสานตอนบนอีกครั้ง และอาจทำให้เกิดฝนตกหนักได้ เขื่อนจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้ดีด้วย