วันนี้ (2 ส.ค.2560) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและน้ำไหลหลาก เมื่อเช้าที่ผ่านมาเวลา 07.00 น. โดยระบุว่า ยังมีจังหวัดที่เผชิญสถานการณ์อยู่อีก 10 จังหวัด คือ 9 จังหวัดในภาพตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.สกลนคร,ร้อยเอ็ด,นครพนม,นครราชสีมา,กาฬสินธุ์,ยโสธร,มุกดาหาร,อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี ส่วนอีก 1 จังหวัดอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คือ จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับแผนการระบายน้ำในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งการให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จุดเสียง และเร่งระบายน้ำจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ขณะนี้ จ.นครพนม พื้นที่รับน้ำต่อเนื่องจาก จ.สกลนคร กำลังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำก่ำที่ไหลมาจากหนองหาร ทั้งที่ อ.นาแก,อ.วังยาง,อ.เรณูนคร,อ.นาหว้า และ อ.ศรีสงคราม บ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังมากกว่า 3,000 ครัวเรือนพื้นที่การเกษตร นาข้าว ได้รับความเสียหายมากกว่า 100,000 ไร่ ทาง จ.นครพนม ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพื่อให้การช่วยเหลือเร่งด่วน
ส่วนสถานการณ์การระบายน้ำที่เขื่อนลำปาว หลังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 108 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
โดยนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อน 1,678 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุเก็บกัก จากความจุเก็บกักสูงสุด 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการคาดการณ์พบว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายวัน ดังนั้นจึงได้ดำเนินการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา
สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำดังกล่าว ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรใน อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นจะส่งผลให้ลำน้ำชีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร นอกจากนั้น จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ใน 4 จังหวัด คือ จ.กาฬสินธุ์,จ.ร้อยเอ็ด,จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งต้องรับน้ำจากเขื่อนลำปาว
ส่วนสถานการณ์ในลุ่มเจ้าพระยา พบว่า ปริมาณน้ำป่าจากภาคเหนือที่หลากท่วมพื้นที่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ทรงตัวอยู่ที่ 15.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และคงการระบายน้ำไว้ในเกณฑ์ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท เปิดเผยว่า จากการคงอัตราระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปถึง จ.สิงห์บุรี มี ระดับน้ำที่ทรงตัว แต่ จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำที่สูงขึ้น 5-10 ซม. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงริมตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำใน อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.บางบาล และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ควรเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลง
สำหรับในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนจะใกล้เคียงกับปี 2559 ดังนั้นในช่วงเดือน ก.ย.กรมชลประทานอาจจะระบายน้ำใกล้เคียงอัตราเดิม และจะผันน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงทั้ง 2 ฝั่ง จึงขอให้ประชาชนที่มีพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนในพื้นที่แก้มลิง และพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์