ใกล้หมอ ใกล้พยาบาลก็รู้สึกอุ่นใจ แต่บางคนก็รู้สึกอุ่นใจกว่าที่จะได้รักษาตัวอยู่กับบ้านและครอบครัว โดยจำนวนผู้สูงอายุที่มีลักษณะติดบ้าน หรือติดเตียงมีแนวโน้มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว โดยใช้วิธีการออกไปบริการผู้ป่วยในชุมชนแทนการบริการในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว
การดูแลระยะยาว (Long-term care) และการดูแลระยะสุดท้าย หรือแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นระบบที่รัฐบาลและภาควิชาการเห็นตรงกันว่า ต้องพัฒนาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ สิ่งที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ กระทรวงสาธารณสุข จัดให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือทีมหมอครอบครัว และ อสม. ออกดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน พร้อมจัดอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามหลักสูตรของกรมอนามัย มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 5 พันคน
นอกจากนี้ปี 2558-2559 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดงบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการแล้ว แต่จากการศึกษาโดยนักวิชาการด้านหลักประกันทางสังคม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็ยังพบช่องว่างที่รัฐบาลยังขาดกลไกทางการเงินการคลัง สนับสนุนระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ชัดเจนและครอบคลุม