ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับญี่ปุ่นครั้งแรกตามอนุสัญญาบาเซล

เศรษฐกิจ
28 ก.ค. 59
20:19
3,068
Logo Thai PBS
ไทยส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับญี่ปุ่นครั้งแรกตามอนุสัญญาบาเซล
ประเทศไทยส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับสู่ประเทศญี่ปุ่นตามผลของอนุสัญญาบาเซลที่เคยให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิก หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อน มีตู้คอนเนอร์จากญี่ปุ่นสำแดงเท็จเข้ามา เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 7 ตู้

วันนี้ (28 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วจำนวนมาก กำลังถูกลำเลียงลงเรือกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากตรวจพบว่าเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขณะเดียวกัน ยังมีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเร่งส่งของเสียอันตรายดังกล่าว กลับไปยังประเทศต้นทาง คาดว่าจะถึงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

อนุสัญญาบาเซล เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตรายและการกำจัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ และให้มีการบริหารจัดการของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงการกำจัดและดำเนินการเพื่อหมุนเวียน โดยไม่กระทบสุขอนามัยประชาชนและสิ่งเเวดล้อม ปัจจุบัน อนุสัญญาบาเซลมีภาคี 183 ประเทศ โดยไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิก

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 8 ตู้ มีต้นทางจากประเทศญี่ปุ่น โดยสินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ เศษทองแดง และเศษอลูมิเนียม แต่มีสินค้าเพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกต้องตรงตามสำแดง ส่วน 7 ตู้ที่เหลือตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ปริมาณรวม 196.11 ตัน ซึ่งจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้นำเข้า หลังประเทศญี่ปุ่นยินยอมให้ส่งของเสียทั้งหมดกลับคืนต้นทาง

ทั้งนี้ การค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และบางรัฐในสหรัฐฯ จัดตั้งระบบ "รีไซเคิล" ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่หลายประเทศไม่มีศักยภาพมากพอที่จะจัดการกับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงเริ่มส่งออกไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง