วันนี้ (13 ก.ค.) นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า ส.ป.ก. ทำการตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก.ที่กำลังอยู่ในระหว่างการทวงคืน ไม่พบรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนในตระกูลชินวัตร ไม่พบว่าใครถือครองที่ ส.ป.ก.ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิกปปส. ก็ไม่พบการถือครองที่ดินส.ป.ก.แต่อย่างใด
สำหรับกลุ่มนายทุนที่จะเข้าไปถือครองที่ดินเองแล้วจ้างเกษตรกรทำไร่ เบื้องต้นตรวจสอบไม่พบเอกชนรายใหญ่เป็นเจ้าของแต่อย่างใด เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ส่วนกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ที่นิยมมาทำธุรกิจล้งผลไม้ในไทยนั้น ก็ไม่พบหลักฐานใดที่ระบุว่า นายทุนจีนเข้าฮุบที่ ส.ป.ก.ของไทย แต่พบเพียงนายทุนที่มีภรรยาเป็นคนไทย เพราะลักษณะของชาวจีนที่มาทำธุรกิจในไทยจะนิยมแต่งงานกับสาวไทย เพื่อให้สาวไทยถือครองกรรมสิทธิ์แทน ทำให้การตรวจสอบครั้งนี้จึงไม่พบว่ามีชื่อของชาวต่างชาติถือครองอยู่
“จากการตรวจสอบ ไม่มีรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร และคนในตระกูล ถือครองที่ดินส.ป.ก. ผมก็เชื่อเช่นนั้น เพราะเศรษฐีระดับนี้ไม่น่าจะมาซื้อที่ดินในป่า ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากการตรวจสอบก็พบว่าไม่มีรายชื่อเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของญาติพี่น้องคนในตระกูลเทือกสุบรรณ น่าจะมีการถือครองอยู่บ้าง เพราะเป็นคนในพื้นที่ พ่อเป็นกำนัน ส่วนพี่น้องก็อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ก็ต้องมีบ้าง ในชื่อส่วนตัวของนายสุเทพเชื่อว่าไม่มี ส่วนการตรวจสอบพื้นที่ในภาคเหนือ บริเวณที่นิยมทำไร่ข้าวโพด ก็ไม่พบรายชื่อของบริษัทด้านการเกษตรรายใหญ่ของประเทศเข้าไปถือครอบครองแต่อย่างใด เพราะคาดว่าการทำไร่ข้าวโพดของเกษตรกรภาคเหนือน่าจะทำในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง ไม่มีการถือครองเอง”
นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ส.ป.ก.ยังตรวจพบพื้นที่ส.ป.ก.ที่มีการครอบครองผิดกฎหมายเพิ่มอีก 3 แปลง แบ่งเป็น สวนส้ม ในจ.เชียงใหม่ 2 แปลง และพื้นที่ที่เศรษฐกิจในจ.เชียงรายครอบครองอีก 1 แปลง ซึ่งส.ป.ก.จะได้มีการบังคับใช้มาตรา (ม.) 44 ตามประกาศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวนำเอกสารสิทธิ์มาแสดงให้แก่เจ้าหน้าที่ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนพื้นที่ตามวงเล็บ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ส.ป.ก.ได้เคยจัดสรรเกษตรกรไปแล้ว แต่เกษตรนำไปขายต่อ เนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป
จากข้อมูลพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีทั้งหมด 26,000 ไร่ แต่จากการตรวจสอบของส.ป.ก.จังหวัดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยังมีความล่าช้า เนื่องจากส.ป.ก.จังหวัดจะตามหาผู้ซื้อที่ดินรายใหม่ก่อนถึงจะสามารถพิสูจน์ที่ดินได้ ทำให้สามารถตรวจสอบพื้นที่ได้เพียง 12,000 ไร่เท่านั้น โดยเมื่อม.44ได้ประกาศใช้ ตนในฐานะเลขาธิการส.ป.ก.ก็จะใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากวันที่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นไป และจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดภายใน 129 วัน
นายสรรเสริญกล่าวด้วยว่า นอกจากที่ดินในส่วนของ ปัญหาการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก.เตรียมดำเนินการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่นำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเกษตร โดยเฉพาะการนำไปทำ รีสอร์ท โรงแรม หรือแหล่งท่องเที่ยว ในจำนวนนี้มีประมาณ 200 แห่ง ในส่วนของที่ส.ป.ก.ที่นำไปใช้ทำรีสอร์ทแหล่งท่องเที่ยว ยอมรับไม่เข้าเกณฑ์ในการใช้ม.44 สำหรับ 3 กรณี คือ 1.พื้นที่ไม่เข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ 500 ไร่ขึ้นไป 2.พื้นที่ที่จัดให้แก่เกษตรกรแล้วแต่เกษตรกรขายให้กับบุคคลอื่น ในเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป และ3.พื้นที่ที่มีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่เนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป เพราะมีขนาดเล็กแต่มีจำนวนมาก
“ที่ดินส.ป.ก.ที่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ การนำไปทำรีสอร์ท ไม่เข้าเกณฑ์ใช้มาตรา 44 จะดำเนินการยึดคืน และจะใช้วังน้ำเขียวโมเดล ที่เคยมีปัญหาในจ.นครราชสีมา มาเป็นต้นแบบ ยึดคืนแล้วให้ เจ้าของ หรือเกษตรกรเช่าดำเนินการต่อ” เลขาธิการส.ป.ก. กล่าว