วันนี้ (4 ก.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. เมื่อปี 2538 และเปิดให้กู้ในปี 2539แม้จะมีเงินหมุนเวียนในกองทุนเพิ่มขึ้นจากเงินอุดหนุนทุกปี แต่ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยกู้ให้นักเรียน-นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ประมาณละ 20,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ตอนนี้มียอดหนี้สะสมนับหมื่นล้านบาท เมื่อมีหนี้สะสมและผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ กยศ. บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายในรูปแบบเบี้ยปรับ
ยกตัวอย่าง นาย ก. สำเร็จการศึกษาในปี 2556 หลังจบการศึกษา กยศ.จะเว้นระยะปลอดหนี้ให้ 2 ปี หากช่วงนี้สามารถชำระเงินคืนได้ นาย ก.จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
หากครบกำหนดปลอดหนี้แล้ว นาย ก. ต้องชำระเงินงวดแรกในวันที่ 5 ก.ค. 2559 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี จากนั้น ต้องจ่ายเป็นงวดกำหนดชำระคือก่อนวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี และจะต้องชำระให้หมดภายใน 15 ปี
แต่ถ้า นาย ก. ไม่ชำระตามนี้ จะต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 12 และหากค้างชำระเกิน 1 ปี จะต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 18
ยกตัวอย่าง ณ วันจ่าย 5 ก.ค. นาย ก. มีหนี้รวม 50,000 บาท และเขาก็ผิดนัดเกิน 1 ปี เขาจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 9 พันบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มจากดอกเบี้ยและเงินต้น
ตามระเบียบของ กยศ. กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปี แต่สำหรับค่าปรับที่ต้องจ่ายเพิ่ม เจ้าหน้าที่ กยศ.บอกว่า เป็นมาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันคนผิดนัดชำระหนี้ และอีกมาตรการของ กยศ.คือ ผู้ที่ขาดการชำระติดต่อกันเกิน 3 ปี จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ในขั้นตอนนี้ ผู้กู้จะต้องมีค่าจ้างทนายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากดอกเบี้ยและค่าปรับอีก
ปัจจุบัน กยศ.ฟ้องร้องคดีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 800,000 คน คิดเป็นหนี้ค้างชำระ 37,000 ล้านบาท มีผู้อยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย 100,000 คน คิดเป็นจำนวนหนี้ค้างชำระ 9,700 ล้านบาท ขณะที่ขั้นตอนทางกฎหมายสูงสุดคือการยึดทรัพย์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน
ปัจจุบันค่าทนายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,200-5,500 บาท หากคำนวนจากค่าจ้างทนายขั้นต่ำสุดที่ 2,200 บาท จากผู้ถูกฟ้อง 800,000 คน หมายความว่าขณะนี้เฉพาะเงินค่าจ้างทนายมีวงเงินส่วนนี้มีกว่า 1,760 ล้านบาท
ล่าสุด กยศ. มีอีกมาตรการ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายให้กฤษฎีกา เสนอต่อ สนช. คือการร่วมลงนามเอ็มโอยูกับผู้ประกอบการ 138 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดเผยข้อมูลพนักงานที่กู้ยืมเงิน กยศ. และหักเงินเดือนเพื่อนำส่งคืนกองทุน ซึ่งคาดว่าหากประกาศใช้เป็นกฎหมายก็จะเริ่มใช้จริงในปี 2559 นี้ แม้จะยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ก็เป็นอีกมาตรการที่ทำให้ระบบการจัดเก็บหนี้ที่กลายเป็นปัญญาอยู่ในทุกวันนี้ มีทางออกที่ชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การลงโทษทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่ทางแก้ของปัญหาทั้งหมด เรื่องนี้ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษาที่อยู่ในแวดวง กยศ. บอกว่า ต้องแก้อย่างน้อย 3 องค์ประกอบ คือ 1.ทัศนคติของผู้กู้ ที่ต้องปลูกฝังให้การชำระหนี้กลายเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ 2.สถานการศึกษาที่จะต้องไม่มองเรื่องนี้เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมให้คนกู้ แต่ละเลยการส่งเสริมให้คนชำระเงินกู้ สุดท้าย 3. กยศ.ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนก่อนจะตัดสินใจปล่อยกู้