ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินเรียกร้องรัฐบาลไทย-เมียนมาชะลอสร้างเขื่อนสาละวิน

สิ่งแวดล้อม
9 มิ.ย. 59
16:01
400
Logo Thai PBS
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินเรียกร้องรัฐบาลไทย-เมียนมาชะลอสร้างเขื่อนสาละวิน
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาชะลอการสร้างเขื่อนสาละวิน ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา แนะยึดหลักมติ ครม.กรณีทวาย หวั่นสร้างเงื่อนไขเพิ่มความรุนแรงในพื้นที่สู้รบ

วันนี้ (9 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาชะลอการสร้างเขื่อนสาละวิน ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า “ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาจะหารือแผนความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง 2 ประเทศ ก่อนหน้านี้ไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับเมียนมา ใน การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิต 6,000 เมกะวัตต์ และเมียนมามีการปรับโครงสร้างกระทรวงพลังงานใหม่ หลังจากมีการเลือกตั้ง”

แถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานติดตามโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน มีความกังวลอย่างยิ่งต่อแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเขื่อนมายตง หรือเขื่อนเมืองโต๋น จะก่อสร้างกั้นลำน้ำสาละวินที่ไหลผ่านใจกลางของรัฐฉาน ห่างจากชายแดนไทย ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพียงราว 40 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ทางท้ายน้ำ คือแม่น้ำสาละวินที่ไหลเป็นพรมแดนไทย-เมียนมา บริเวณ อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล ชาวบ้าน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด กล่าวว่าข้อกังวลหลัก คือ เขื่อนมายตง จะสร้างบนพื้นที่ภาคกลางของรัฐฉาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ประชาชนกว่า 300,000 คน ได้เคยอาศัยอยู่แต่ถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ในช่วงปี 2539 โดยส่วนหนึ่งได้หนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ที่ จ.เชียงใหม่ และยังคงไม่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นฐานจนกระทั่งวันนี้ การก่อสร้างเขื่อนในบริเวณดังกล่าวจึงเท่ากับว่าทำให้บ้านของผู้ลี้ภัยเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร และยิ่งทำให้ความไม่สงบในรัฐฉานรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการลงทุนของไทย

“นอกจากนี้ เมียนมาหลังการเลือกตั้ง กำลังเดินสู่ถนนสายประชาธิปไตย และนางอองซานซูจี รัฐมนตรีที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ได้เสนอให้มีการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และขณะนี้กระบวนการสันติภาพในเมียนมากำลังดำเนินอยู่ หากประเทศไทยเข้าไปลงนามสัญญากับรัฐบาลเมียนมาในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเวลานี้ อาจทำให้กระบวนการสันติภาพในรัฐฉานล้มเหลว ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังของประชาคมโลก นอกจากนี้เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในรัฐฉานซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เท่ากับฉวยโอกาสในขณะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่” นายไพโรจน์ กล่าว

 

 

นายไพโรจน์กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยังคงไหลอย่างอิสระ เป็นมรดกของภูมิภาคที่ 3 ประเทศ ควรร่วมกันรักษา ในประเทศไทยไม่มีอีกแล้วที่จะพบแม่น้ำที่ไหลอย่างเป็นธรรมชาติและปกคลุมด้วยผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ไม่สมควรที่ประเทศไทยจะลงทุนสร้างเขื่อน ที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อระบบนิเวศที่สำคัญระดับนานาชาติ

“พวกเรารู้สึกดีใจที่เห็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อไม่กี่วันก่อน ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เราก็หวังว่ามติครม.นี้จะได้รับการปฎิบัติในพื้นที่แม่น้ำสาละวินด้วยเช่นเดียวกัน” นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ครม.ได้มีมติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในกรณีท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในประเทศเมียนมา ซึ่งไทยได้ร่วมลงนามโครงการดังกล่าวที่มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ชาวทวาย โดยกสม.เสนอให้มีกลไกลกำกับดูแลหรือสนับสนุนภาคเอกชนให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนว่ารัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริมให้เอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเคารพหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนในการลงทุนทั้งที่เกิดในประเทศไทยและการลงทุนของผู้ลงทุนสัญชาติไทยในต่างประเทศ รวมทั้งทำการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการต่างๆ รวมถึงจัดทำรายงานประจำปีหรือเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้โครงการเขื่อนมายตง หรือเขื่อนเมืองโต๋น ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน ใกล้เมืองโต๋น รัฐฉาน โดยเป็น 1 ใน 6 โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเมียนมา เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลเมียนมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทจากประเทศจีน มูลค่าการก่อสร้างกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทำการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (SEA) โดยบริษัทจากออสเตรเลีย แต่ไม่สามารถทำได้แล้วเสร็จเนื่องจากไม่สามารถเข้าสำรวจในพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเขตที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมา และกองกำลังชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพว้า ที่ปฏิเสธมิให้คณะสำรวจเข้าพื้นที่โดยสิ้นเชิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง