ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดรายงาน : แฉ “วัดป่าหลวงตาบัว” เบื้องหลังค้าเสือในตลาดมืด

สิ่งแวดล้อม
2 มิ.ย. 59
11:48
68,543
Logo Thai PBS
เปิดรายงาน : แฉ “วัดป่าหลวงตาบัว” เบื้องหลังค้าเสือในตลาดมืด
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย แปลรายงานของ นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ที่ตีพิมเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2559 เรื่อง Exclusive: Tiger Temple Accused of Supplying Black Market

http://news.nationalgeographic.com/2016/01/160121-tiger-temple-thailand-trafficking-laos0/

ระบุเป็นภาษาไทยว่า

วัดเสือ: สวรรค์สัตว์ป่าหรือธุรกิจแสวงหากำไร
ไม่นานมานี้มีรายงานว่า พระวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (หรือ วัดเสือ) จ.กาญจนบุรี มีการเร่งเพาะเสือเพื่อป้อนตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย


สภาพเสือซึ่งอยู่กันอย่างแออัดในกรงวัดเสือ ซึ่งมีในครอบครองรวม 147 ตัว รายงานล่าสุดระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัดและตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
(ภาพ: Sharon Guynup, National Geographic)

วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาขับรถประมาณสามชั่วโมง เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์ภูสิต (จันทร์) ขันติธโร และพระเลขาเจ้าอาวาส คือ พระจักรกฤษณ์ อภิสุทธิพงษากุล

วัดเสือ เป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเข้ามาสัมผัส ถ่ายรูปคู่แบบใกล้ชิด เดินเคียงข้าง หรือแม้กระทั่งป้อนนมให้กับลูกเสือ ซึ่งทางวัดมีเสือในครอบครองถึง 147 ตัว ประเมินรายได้จากกิจการนี้เฉลี่ยปีละกว่าร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเสือในวัดมายาวนาน โดยอดีตลูกจ้างที่เคยทำงานให้กับวัด กล่าวหาว่าทางวัดแสวงหาผลประโยชน์จากเสือในทางที่ผิด และมีการทารุณกรรมเกิดขึ้นอีกด้วย เช่น การตี การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การขาดการดูแลโดยสัตวแพทย์ การให้อยู่อาศัยในกรงขนาดเล็ก ทำให้เสือขาดโอกาสในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางวัดปฎิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และล่าสุดมีการร้องเรียนว่าวัดมีความเกี่ยวพันกับการค้าเสือผิดกฎหมาย

เนื่องจากความตระหนักในสวัสดิภาพสัตว์ ข้อกล่าวหาต่างๆ ทำให้วัดกลายเป็นสิ่งเตือนใจทุกคนเพื่อปกป้องสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งนับวันถูกคุกคามในธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ 100 ปีก่อน เคยมีเสือมากถึง 100,000 ตัว อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียรวม 30 ประเทศ ปัจจุบันเหลือเสือในธรรมชาติอยู่เพียง 3,200 ตัวใน 11 ประเทศเท่านั้น

เดือนก่อน Sharon Guynup (ผู้เขียนข่าว) และ Steve Winter (ช่างภาพ) ได้เข้าไปสัมภาษณ์พระจักรกฤษณ์ เนื่องจากพระอาจารย์ภูสิตปฏิเสธการให้สัมภาษณ์เรื่องเสือเพศผู้สามตัวที่หายไป (ดาวเหนือ อายุ 7 ปี ฟ้าคราม 3 อายุ 3 ปี และแฮปปี้ 2 อายุ 5 ปี) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557

พระจักรกฤษณ์กล่าว “เรายังคงมีเสืออยู่ที่นี่ พวกมันยังอยู่ที่วัดเสือแห่งนี้แน่นอน”
นายสัตวแพทย์ สมชัย วิเศษมงคลชัย สัตวแพทย์ผู้ซึ่งทำงานกับทางวัดมานาน ยืนยันว่า เสือทั้งสามตัวได้ฝังไมโครชิพ และลงทะเบียนไว้กับทางรัฐบาลแล้ว เพราะเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายไทยสำหรับสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงในกรง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นายสมชัย ลาออกจากงานที่วัดและส่งมอบไมโครชิพที่ได้รับการเอาออกจากเสือ ให้แก่ นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

หลังจากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าตรวจที่วัดเสือ พบว่า เสือสามตัวนั้นหายไปอย่างแน่นอน นอกจากนี้พบว่ามีเสืออีก 13 ตัวที่ไม่ได้ฝังไมโครชิพ และยังพบซากเสือในตู้แช่แข็งอีกด้วย

องค์กร Cee4life (Conservation and Environmental Education for Life) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาแสดงหลักฐานเกี่ยวกับเสือที่ถูกนำเข้าและเคลื่อนย้ายออกจากวัดเสืออย่างผิดกฎหมาย อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2547 โดยนำรายงานมาส่งมอบให้กับทางรัฐบาลไทย และทาง National Geographic เมื่อธันวาคม 2558 และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกสู่สาธารณะเมื่อเดือนมกราคม 2559

ในรายงานมีบันทึกของสัตวแพทย์ ได้ระบุถึง เสือสี่ตัวที่เลี้ยงอยู่ในวัดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแท้จริงแล้วถูกจับมาจากธรรมชาติ ในช่วงปี 2542 ถึง 2543 และในปี 2547 เสือเพศเมีย ชื่อ น่านฟ้า ได้นำเข้ามาจากประเทศลาว โดยในสัญญา (พ.ศ. 2548) ลงนามโดยเจ้าอาวาส แสดงรายละเอียดการแลกเสือเพศผู้ของทางวัดกับเสือเพศเมียของหน่วยงานที่เพาะเสือเชิงพาณิชย์ในประเทศลาว นอกจากนี้ยังมีเทปบันทึกเสียงซึ่งได้มาจากที่ปรึกษาของวัด ได้บันทึกการสนทนาระหว่างเจ้าอาวาสและนายสมชัยเกี่ยวกับเสือสามตัวที่หายไป

การค้าระหว่างประเทศของเสือที่มีชีวิต รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ นั้นถือว่าผิดกฎหมายไทย รวมถึงขัดแย้งกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 182 ประเทศที่เป็นสมาชิก

และจนบัดนี้ยังไม่มีใครถูกจับกุม ยังไม่มีใครโดนดำเนินคดี และยังไม่ทราบชะตากรรมของเสือสามตัวที่หายไป อย่างไรก็ตามเร็ว ๆ นี้ทางรัฐบาลจะเคลื่อนย้ายเสือจากวัดไปยังหน่วยงานของรัฐ (เช่น สถานีเพาะเลี้ยง เป็นต้น)


อาคารศูนย์ฝึกสมาธิ ส่วนหนึ่งของการขยายโครงการที่วัดเสือ เป็นโครงการมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท
(ภาพ: Steve Winter, National Geographic)

นอกจากนี้ ทางวัดถูกกล่าวหาเรื่องลักลอบขนเสือตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดย National Geographic จากรายงานการศึกษาของกลุ่มอนุรักษ์ชื่อ British Wildlife Group Care for the Wild และในขณะเดียวกันกลุ่ม International Tiger Coalition ได้กล่าวถึงวัดเสือซึ่งไม่เคยสนับสนุน หรือช่วยเหลือการอนุรักษ์เสือในธรรมชาติเลย ในทำนองเดียวกัน ข้อกล่าวหาจากบทความนี้ยังขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของวัดที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์อยู่ร่วมกันกับเสือได้

การเพาะพันธุ์เสือ

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายนั้นเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีทั้งค้าขายอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประมาณรายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ทั่วโลกว่าสามารถทำเงินได้ถึง 6.65 แสนล้านบาทต่อปี
ผลิตภัณฑ์จากเสือมีมูลค่ามหาศาลในตลาดมืด ดังนั้นหน่วยงานที่เพาะเสือเชิงพาณิชย์ จึงเพาะเสือออกมาจำนวนมากเพื่อขายผลิตภัณฑ์หรืออวัยวะเหล่านั้น ซึ่งการทำฟาร์มเสือแบบนี้ขัดแย้งกับอนุสัญญาไซเตส (2007) ซึ่งระบุว่า ห้ามการเพาะเลี้ยงเสือเพื่อการค้าขายใด ๆ ทั้งสิ้น

Debbie Banks ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือจากหน่วยงานตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) ในลอนดอน กล่าวถึงการค้าเสือผิดกฎหมายที่มาจากการเพาะเลี้ยงอย่างกรณีวัดเสือนี้ ว่ามีผลกระทบมากกว่าแค่ชีวิตเสือ 147 ตัวในวัด เพราะหากสามารถป้อนความต้องการของตลาดมืดด้วยผลิตภัณฑ์จากเสือที่เพาะเลี้ยงได้ ต่อไปเสือในป่าไม่ว่าจะประเทศอินเดีย บนเกาะสุมาตรา ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีเสืออาศัยอยู่ เสือในธรรมชาติเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นที่จะถูกล่าเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นแน่นอน

จากรายงานปี 2557 โดยไซเตส พบว่า อวัยวะของเสือถูกนำมาบริโภคเป็นยาน้อยลง แต่กลับถูกผลิตเป็นสินค้าที่ดูหรูหราและแปลกใหม่ เช่น ไวน์ที่ต้มจากกระดูกเสือ (ต้มโครงกระดูกเสือในไวน์ข้าว) หรือเอาหนังเสือมาประดับในบ้าน ซึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะในหมู่คนรวยในประเทศจีน เป็นต้น


พระอาจารย์ภูสิต (จันทร์) ขันติธโร เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับลูกเสืองสองตัว ซึ่งจากรายงานล่าสุด ระบุ ทางวัดมีการเร่งเพาะเสือ เพื่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
(ภาพ: Steve Winter, National Geographic)

Debbie กล่าวต่ออีกว่า มีเสือมากกว่า 5,000 ตัวซึ่งถูกเพาะเลี้ยงอยู่ในฟาร์มในประเทศจีน ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับสอง ประมาณ 950 ตัว และยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบจำนวนเสือในประเทศลาว และเวียดนาม ในตอนนี้ไม่อาจทราบได้ว่ามีเสือจำนวนเท่าใดที่เลี้ยงไว้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างวัดเสือ และไม่อาจทราบได้ว่ามีเสืออีกกี่ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อซื้อขายผิดกฎหมาย และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

การสืบสวน

Sybelle Foxcroft ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสัตว์ป่า ชาวออสเตรเลีย และเป็นผู้ผลักดันให้มีการทำรายงานเกี่ยวกับวัดเสือ ด้วยเหตุบังเอิญทำให้ Sybelle ต้องเป็นนักสืบ เมื่อพ.ศ.2550 เธอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับการจัดการเสือในที่เพาะเลี้ยง โดยพื้นที่ศึกษาของเธอคือ วัดเสือ ทางวัดอนุญาตให้เธอถ่ายรูป อัดวิดีโอ รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ส่วนในของวัด ซึ่งปกติจะห้ามชาวต่างชาติเข้าบริเวณนี้

ในวันที่ 19 เมษายน ซึ่งเป็นคืนที่สองที่เธออยู่ที่วัด เธอเห็นบางสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องเสาะหาข้อเท็จจริงไปอีก 9 ปี และทำให้เธอได้รู้จักกับ Cee4life ในคืนนั้นเธอได้ยินเสียงรถยนต์ ตามด้วยเสียงร้องขู่ของเสือ พร้อม ๆ กับเสียงร้องตื่นตระหนกของลูกเสือ เธอจึงรีบรุดไปที่กรงเสือ และเห็นแสงไฟฉาย จำนวน 6 อัน บริเวณกรงเสือเพศเมียนามว่า “แสงตะวัน” หลังจากนั้นเสือก็กระแทกเข้ากับกรงอย่างรุนแรง และเงียบไป

“แสงตะวัน” นอนสลบอยู่บนพื้น ขณะเดียวกันผู้บุกรุกได้จับลูกเสือที่ร้องด้วยความตื่นตระหนกทั้งสองตัว (เพศเมีย อายุสี่เดือน) ลงในกระสอบ และโยนขึ้นรถบรรทุกไป

จากสิ่งที่ Sybelle กำลังพบเห็น เธอตัดสินใจรีบไปแอบที่ประตูวัด ซึ่งเธอได้เห็นคนขับรถบรรทุกคันนั้น จอดคุยกับเจ้าอาวาส และพระรูปอื่น ๆ ก่อนจะขับออกไป

ในเช้าวันต่อมา “แสงตะวัน” ยังคงร้องคำรามถึงลูกน้อยของมันที่หายไป ในขณะที่นอกกรงของเธอมีกรงลูกเสือเพศผู้อายุสองสัปดาห์จำนวนสองตัวมาแทน แต่ตัวหนึ่งตายแล้ว ซึ่งตัวที่รอดชีวิตมาได้มีชื่อว่า “หาญฟ้า”

Sybelle จับสังเกตถึงรูปแบบกระบวนการในวัดได้ นั่นคือ เสือเพศเมียเต็มวัยจะหายไป แต่เพศผู้เต็มวัยจะยังได้อยู่ในวัด เนื่องจากเพศผู้ประพฤติตัวกับนักท่องเที่ยวดีกว่าเพศเมีย หลังจากเธอกลับไปประเทศของเธอสองเดือน และกลับมาที่วัดเสือแห่งนี้อีกครั้ง เธอสังเกตเห็นว่าเสือเพศเมียเต็มวัยหายไปสามตัว (เรืองดาว ดาริการ์ และวายุ)

ในเย็นวันหนึ่งกลางเดือนสิงหาคม Sybelle เห็นพระถือวิทยุสื่อสารในช่วงทำวัตรเย็น หลังจากนั้นรถบรรทุกคันเดียวกันก็มาพา เสือเพศเมีย “ฟ้าเรือง” ออกจากวัดไป

ในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ในวัดสองคนบอก Sybelle ว่าเสือถูกเคลื่อนย้ายไปที่ฟาร์มเสือในประเทศลาว ซึ่งทำให้เธอตระหนักได้ว่า นี่เป็นกระบวนการทำงานที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งคนใน และคนนอกวัด

หลังจากนั้น Sybelle ยังสังเกตพบอีกว่า เสือเพศผู้ “เมฆ” ซึ่งเป็นเสือที่อยู่ในวัดมาตั้งแต่แรกเริ่มและเป็นที่รักของนักท่องเที่ยว ได้หายตัวไป ซึ่งเธอจำได้ว่าเมื่อตอนที่ เสือ “เมฆ” หายตัวไป นายแบงค์เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่นั่น ดังนั้นเธอจึงสัมภาษณ์นายแบงค์พร้อมอัดวีดิโอ ในเดือนมกราคม 2549

นายแบงค์ เล่าว่า เขาเห็นกลุ่มคนฉีดยาสลบเสือ “เมฆ” และตัวเขาเองได้ช่วยอุ้มเสือออกจากกรงขึ้นรถบรรทุกไป ซึ่งหลังจากนั้นนักท่องเที่ยวก็ถามหาเสือ “เมฆ” อยู่บ่อย ๆ


การแสดงของเสือ ณ วัดเสือ ที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหาร ถ่ายรูปคู่หรือเดินเคียงข้างกับเสือได้ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับทางวัดถึงปีละกว่าร้อยล้านบาท (ภาพ: Steve Winter, National Geographic)

ในปี 2550 Sylwia Domaradzka อดีตอาสาสมัครวัดเสือ เล่าว่า เสือ “หาญฟ้า” ลูกเสือที่มาแทนที่ลูกของ “แสงตะวัน” ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เมฆ” แทน ส่วนลูกเสือที่เพิ่งเกิดใหม่ ก็ได้ชื่อว่า “หาญฟ้า” แทน

Sylwia เล่าต่อว่า วิธีที่พระวัดเสือทำคือ การนำเสือตัวเก่าออกไป และนำตัวใหม่มาแทน หรือมีการเปลี่ยนชื่อเพื่อสวมรอยตัวเก่า ด้วยวิธีนี้เอง เสือจึงไม่เคยหายไปจากวัดเลย

เดือนพฤษภาคม 2552 ลูกเสือเพศเมีย “อิสระ” ได้หายตัวไป ในเวลานั้น Ash Waldron ชาวอังกฤษซึ่งทำงานอยู่ที่วัดเสือระหว่างการท่องเที่ยวทั่วเอเชียของเขา ยืนยันว่า “อิสระ” ได้หายตัวไป และหกเดือนให้หลัง “อิสระ” กลับมาแต่เป็นเสือเพศผู้แทน

Ash กล่าวเสริมว่า เขาได้เห็นเสืออีกหลาย ๆ ตัวถูกเคลื่อนย้ายไปจากวัด เนื่องจากส่วนหนึ่งของงานเขาคือการ ป้อนนมลูกเสือ โดยเขาได้เห็นลูกเสือเพิ่งเกิดใหม่ในคืนหนึ่ง ในเช้าวันถัดมาก็ไม่มีร่องรอยของลูกเสือเกิดใหม่ตัวนั้นเลย เมื่อเขาถามเจ้าหน้าที่คนไทย กลับตอบว่า ไม่มีลูกเสือเกิดใหม่ แต่ Ash ยืนยันในสิ่งที่เขาเห็น ทำให้เจ้าหน้าที่คนนั้นยอมบอกว่าแท้จริงแล้วลูกเสือที่เกิดใหม่นั้นถูกส่งไปที่ฟาร์มเสือในประเทศลาวแล้ว

นอกจากนี้ ในการสัมภาษณ์พระจักรกฤษณ์ Sharon ยื่นเอกสารประกอบรายงานเกี่ยวกับวัดเสือให้พระจักรกฤษณ์อ่าน เป็นหนังสือสัญญาการค้าระหว่างเจ้าอาวาสกับฟาร์มเสือ ประเทศลาว ในปี 2548 ซึ่งลงนามสัญญาโดยเจ้าอาวาส ตัวแทนจากฟาร์มเสือ และพระจักรกฤษณ์

Sharon จึงถามถึงจำนวนเสือที่นำเข้าจากฟาร์มเสือ ประเทศลาว พระจักรกฤษณ์ กล่าว “เราแลกเปลี่ยนเสือเพียงหนึ่งตัว เพราะเจ้าอาวาสต้องการปรับปรุงในเรื่องพันธุกรรมเสือในวัด ดังนั้นจึงต้องการเสือที่มาจากกลุ่มประชากรอื่น ๆ”

พระจักรกฤษณ์ ยอมรับว่าเจ้าอาวาสมีการแลกเปลี่ยนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ระหว่างประเทศจริง แม้ว่าการค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นั้นละเมิดทั้งอนุสัญญาไซเตสและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าไทย รวมถึงการเพาะเลี้ยงเสือก็เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล (2544) อีกด้วย

จุดเริ่มต้น

จากข้อมูลเว็บไซต์ของทางวัดระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2542 เสือตัวแรกที่มาอาศัยที่วัดเป็นลูกเสือป่วย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนำสัตว์ที่ต้องการความช่วยเหลือ (เช่น สัตว์ป่วย สัตว์ที่หลงทาง เป็นต้น) มาให้ช่วยดูแล

ในเวลานั้นลูกเสือมีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีกห้าเดือน ในระหว่างที่อยู่กับทางวัด เจ้าอาวาสได้พาลูกเสือไปด้วยขณะบิณฑบาตร ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวบ้านในชุมชนรวมถึงชาวต่างชาติอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง นั่นคือทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟทอดข้ามแม่น้ำแคว

เรื่อยมาจนพ.ศ. 2543 มีลูกเสือเพศผู้และเพศเมีย อย่างละสี่ตัวมาอยู่ที่วัด (จากบันทึกของสัตวแพทย์ ระบุว่า ลูกเสือเหล่านี้มาจากการจับมาจากป่าซึ่ง องค์กร Cee4life เป็นผู้เก็บบันทึกนี้ไว้)

ถึงแม้ว่าทางวัดจะแจ้งว่าเสือที่ทางวัดมีในครอบครองจะเป็นลูกเสือกำพร้า เป็นเสือที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง เป็นเสือที่ถูกล่า อย่างไรก็ตาม นายอดิศร รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่าทางวัดมีความผิด เนื่องจากมีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในครอบครองโดยมิได้แจ้งขออนุญาตกับทางรัฐบาล


พระจักรกฤษณ์ อภิสุทธิพงษากุล พระเลขาเจ้าอาวาส กล่าว “เจ้าอาวาสได้มีการแลกเปลี่ยนเสือกับฟาร์มเสือในประเทศลาว” ซึ่งการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเสือนั้นมีความผิดตามกฎหมาย
(ภาพ: Sharon Guynup, National Geographic)

นายอดิศร กล่าว ใน พ.ศ. 2544 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พบว่าทางวัดฝ่าฝืนกฎหมายจึงแจ้งยึดเสือ แต่อนุญาตให้เสืออยู่ในวัดต่อไปได้ เนื่องจากเวลานั้นทางกรมอุทยานฯ ยังไม่มีสัตวแพทย์ และไม่มีการอบรมด้านนี้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ทราบขั้นตอนการดูแลเสือ

ข้อมูลในเว็บไซต์ ระบุต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป เสือเติบโตขึ้น และสร้างความยินดีแก่ทางวัดเมื่อมันเริ่มตั้งท้อง

เสือ นั้นสร้างรายได้ให้แก่ทางวัดมหาศาล โดยเฉพาะลูกเสือ โดยผู้เขียนและช่างภาพของ National Geographic ได้ไปที่วัดนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา พวกเราต้องจ่ายประมาณ 4,900 บาท เพื่อบริจาคให้กับโครงการดูแลลูกเสือ โดยอนุญาตเพียง 30 คน ซึ่งสามารถป้อนนม และสัมผัสเล่นกับลูกเสือได้ นอกจากนี้หากอยากถ่ายรูปคู่กับเสือโตเต็มวัยอย่างใกล้ชิด หรือการออกกำลังกายเล่นกับลูกเสือ อาจต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นถึง 7,000 กว่าบาท

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา Sybelle กล่าวว่า ทุก ๆ 3 เดือน มีความต้องการลูกเสือประมาณ 6 ถึง 20 ตัวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เล่นกับลูกเสือ เพราะเมื่อลูกเสือโตขึ้น มันอันตรายเกินไปสำหรับคน ดังนั้นทางแก้สำหรับความต้องการนี้คือ การเร่งเพาะลูกเสือออกมา โดยการย้ายลูกเสือเกิดใหม่ให้ห่างจากแม่เสือ ซึ่งจะมีผลทำให้แม่เสือสามารถเป็นสัดได้อีกครั้ง แม่เสือมีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 16 สัปดาห์ ดังนั้นวิธีการนี้ทำให้เสือสามารถออกลูกได้อย่างน้อยสองครอกต่อปี ซึ่งโดยปกติแม่เสือในธรรมชาติเลี้ยงดูลูกเสือหนึ่งครอกจะใช้เวลาสองปี

ทางวัดมีเสือในครอบครอง 18 ตัวในปี 2550 และเพิ่มมากถึง 70 กว่าตัวในปี 2553 ปัจจุบัน (2558) ทางวัดมีเสือ 147 ตัว นอกจากนี้ Sybelle รวบรวมบันทึกซึ่งระบุเสือแต่ละตัวจำนวน 281 ตัวได้เข้ามาอยู่ที่วัดตั้งแต่ปี 2542 ถึง 2558 เป็นที่น่าสงสัยว่า ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาจะมีเสือตายถึง 134 ตัวจริงหรือ เพราะโดยปกติเสือในที่เพาะเลี้ยงจะมีช่วงอายุประมาณ 16 ถึง 22 ปี ดังนั้นจากการคำนวณจำนวนเสือที่ปรากฏในบันทึกกับจำนวนที่ทางวัดครอบครองในปัจจุบันดูแล้ว คงเกิดคำถามว่า “แล้วเสือที่เหลือหายไปไหน”

เสือสามตัวที่หายไป

ทาง Cee4life ได้รับวิดีโอซึ่งมาจากกล้องวงจรปิดภายในวัดเมื่อ 20 ธันวาคม 2557 แสดงรถยนต์ และรถบรรทุกเข้ามาในวัดตอนกลางคืน มุ่งตรงไปที่กรงเสือ หลังจากนั้นมีกลุ่มคนพร้อมด้วยแสงไฟฉายทำอะไรสักอย่าง จนสองชั่วโมงให้หลังรถทั้งสองคันก็ขับจากไป

นาย Andy Sambor ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับทางวัดมานาน เล่าว่า ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติมักออกไปสังสรรค์ในตัวเมืองกาญจนบุรี นอกจากนี้ทางวัดมีกฏระเบียบอยู่ว่า ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในวัดช่วงทำวัตรเย็นตั้งแต่หลังหกโมงเย็น จะห้ามเข้าวัดจนกว่าจะตอนเช้าในวันถัดไป ดังนั้นทุกคนจึงพักในตัวเมืองกัน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มักไม่ค่อยมีนัก

ในวันที่ 21 ธันวาคม พวกเขาพบว่า เสือ “ดาวเหนือ” ได้หายไปจากกรง เหลือไว้แต่เพียงรอยข่วนที่พื้นกรง และบนพื้นดินด้านนอกกรง บ่งบอกว่าเสือได้ต่อสู้อย่างรุนแรงเพราะพบเศษเล็บหล่นอยู่ข้างนอกกรงอีกด้วย

 

เสือในกรงแคบ ๆ ซึ่งแทบขยับไปไหนไม่ได้ ในวัดเสือ ที่ซึ่งนักอนุรักษ์ร้องเรียนมานาน เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากเสือ (ภาพ: Sharon Guynup, National Geographic)

ในช่วงเวลาเย็นก่อนค่ำของวันที่ 25 ธันวาคม เป็นอีกวันที่อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติเข้าไปในตัวเมือง วีดิโอจากกล้องวงจรปิดภายในวัดได้บันทึกภาพผู้ชายขี่มอเตอไซค์เข้ามาสองคัน ณ เวลา 21.22 นาฬิกา พวกเขาขับเข้า ๆ ออก ๆ วัดสองครั้ง แล้วจากไปในเวลาเที่ยงคืน

ในเช้าวันถัดมาพบว่า เสือ “แฮปปี้ 2” และ “ฟ้าคราม 3” หายตัวไป
จากบทสนทนาในเฟสบุ๊คภายในวันนั้น ระหว่างเจ้าหน้าที่วัดเสือ ใช้ชื่อบัญชีเฟสบุ๊คว่า “Lynx Rufus” กับอดีตอาสาสมัคร ความว่า “วันนี้เสือหายไปสามตัว ... ทางวัดเพิ่งมาบอกในตอนเย็นของวันว่าพวกเขาได้นำเสือสามตัวเพื่อแลกกับเสือขาว ซึ่งยังไม่เคลื่อนย้ายมาไว้ที่วัด นอกจากนี้ตอนทำวัตรเย็น มีพระรูปหนึ่งบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เสือตัวนั้นไม่ได้เป็นอะไร และให้เงียบเรื่องนี้ไว้”

ในการจะเคลื่อนย้ายเสือเข้าออกวัดได้นั้นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เพราะระหว่างทางออกวัดจนถึงกรงเสือจะต้องผ่านประตูที่ล็อคกุญแจถึงหกด่าน โดยมีพระเกษม ผลชัย คนสนิทของเจ้าอาวาส เป็นผู้ถือกุญแจ

ที่ปรึกษาอาวุโสของวัด ซึ่ง Sybelle เรียกเขาว่า ชาลี ได้สัมภาษณ์พระเกษม พร้อมอัดวีดิโอในช่วงปลายเดือนธันวาคม นอกจากนี้ตั้งแต่ชาลีนำข้อมูลเกี่ยวกับการขโมยเสือไปแสดงต่อตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี เขาก็ถูกขู่ฆ่ามาตลอด

การทำงานอย่างลวกๆ

Gary Agnew ชาวแคนาดา ซึ่งเคยทำงานเป็นคณะกรรมการของสวนสัตว์ Calgary และเคยเรียนหลักสูตรการดูแลเสือในที่เพาะเลี้ยง เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งที่วัดเสือทุก ๆ ปีเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่าสิบปี และเขายังเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ให้แก่วัดอีกด้วย

Gary เล่าว่า เขาสามารถตอบคำถามที่สงสัยของเขาเองได้ เกี่ยวกับเสือสามตัวที่หายไป และได้นำข้อมูลที่เขาทราบมานั้นแจ้งกับตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี นั่นก็คือ เสือทั้งสามตัวถูกจับไปโดยที่คนในรู้เห็น และมีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องราวมันแดงขึ้นมาเพราะการทำงานอย่างลวก ๆ โดยเจ้าหน้าที่นำเสือมาผิดตัว ซึ่งเป็นตัวที่มีการฝังไมโครชิพลงทะเบียนไว้ ทำให้สามารถติดตามได้ว่าเสือตัวนี้ถูกพามาจากที่ใด

Gary กล่าวถึงเสือทั้งสามตัวที่หายไปว่ามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะตายแล้ว ที่คิดเช่นนี้เพราะประโยคหนึ่งที่เจ้าอาวาสกล่าวไว้ ซึ่งชาลีได้อัดเสียงไว้ได้ “ใช่แล้ว นี่เป็นวิธีการของเรา ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงต้องเคลื่อนย้ายเสือที่ยังไม่ตายออกไปน่ะสิ”

ทาง Sharon (ผู้เขียน) ได้นัดสัมภาษณ์กับชาลี โดยมี Steve (ช่างภาพ) บันทึกภาพเอาไว้โดยเซ็นเซอร์หน้าชาลีไว้เพื่อความปลอดภัย ชาลีเล่าว่า มันผิดกฎหมายไทยในการวิจารณ์เกี่ยวกับการสืบสวนของตำรวจ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ไว้วางใจตำรวจในท้องที่นัก ดังนั้นเขาจึงส่งมอบข้อมูลที่เขามีให้กับกรมอุทยานฯ Sybelle และ Sharon (ทีมงาน National Geographic) แทน

นับเป็นระยะเวลา 11 เดือนแล้วที่นายสัตวแพทย์สมชัย ส่งมอบหลักฐานไมโครชิพให้แก่กรมอุทยานฯ แต่ก็ยังไม่มีการเดินเรื่อง หรือประกาศใด ๆ ออกสู่สาธารณะ ซึ่ง Gary เกรงว่าเรื่องนี้จะถูกปิดข่าวอีกหรือไม่

วัดหรือสวนสัตว์?

Sharon มีโอกาสเข้าพบนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดี กรมอุทยานฯ และได้พูดคุยเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างของวัดเสือ ซึ่งทางวัดแจ้งว่าได้แบ่งโครงสร้างเป็น ด้านพุทธศาสนา ด้านความร่วมมือกิจการเสือ และด้านมูลนิธิ


นักท่องเที่ยวกำลังถ่ายรูปคู่กับลูกเสือวัย 5 เดือน ณ วัดเสือ ซึ่งต้องบริจาคเงินถึง 4,900 บาท หากต้องการป้อนนมและเล่นกับลูกเสือ (ภาพ: Sharon Guynup, National Geographic)

อดีตตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี พ.ต.อ.ศุภิฏพงศ์ ภักดิ์จรุง ตอนนี้เป็นรองประธานมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ ได้กล่าวกับ Sharon ถึงแผนจัดสร้างสวนเสือรูปแบบคล้าย ๆ สวนซาฟารี ซึ่ง Gary กล่าวเสริมว่า ซึ่งคงจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถเล่นกับเสือได้ และเป็นที่ที่เสือสามารถผสมพันธุ์กันเองได้ ซึ่งระยะแรกของโครงการนี้จะมีเสือทั้งหมด 500 ตัว และในเดือนธันวาคมนี้ทางวัดจะส่งเอกสารขอใบอนุญาตเพื่อเปิดเป็นสวนสัตว์

Sharon ได้ถามนายอดิศรถึงจะมีอุปสรรคใดในการเคลื่อนย้ายเสือออกจากวัด ซึ่งนายอดิศร กล่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในวัดก็คือชาวบ้านแถวนั้น และการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากวัดก็ดูท่าจะขัดต่อประเพณีความเชื่อชาวพุทธ

นายอดิศรกล่าวต่อว่า มีเจ้าหน้าที่ทางวัดพยายามเจรจาต่อรอง โดยพวกเขาจะยอมให้ทางกรมอุทยานฯ ยึดเสือไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องออกใบอนุญาตเพื่อเปิดเป็นสวนสัตว์ให้กับทางวัดแทน ซึ่งนายอดิศรยืนยันว่าทางวัดจะต้องไม่มีเสือในครอบครองเท่านั้น

ในอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พยายามเคลื่อนย้ายเสือทั้ง 147 ตัว โดยในการเคลื่อนย้ายเสือกลุ่มแรกกลับถูกชายสองคนขัดขวางตรงประตูทางออกวัด ซึ่งนายอดิศร กล่าวว่า หากจำเป็นจริง ๆ คงต้องขอหมายศาลและขอความช่วยเหลือจากทางตำรวจและทหารในการเคลื่อนย้ายเสือไปยังหน่วยงานของรัฐ (เช่น สถานีเพาะเลี้ยง ฯลฯ) รวม 9 แห่งต่อไป

ในขณะเดียวกันการสืบสวนเกี่ยวกับเสือสามตัวที่หายไปก็เป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากการพิสูจน์ตรวจสอบเกี่ยวกับอาชญากรรมใด ๆ ภายใต้สถาบันศาสนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธ การกล่าวโทษและดำเนินคดีพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ระดับสูงอย่างเช่นเจ้าอาวาสนั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง

แต่กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการลักลอบขนสัตว์ป่าและคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม นายอดิศรกล่าวว่าภายในไม่กี่สัปดาห์หน้าเขาจะขอให้ตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยดูแลคดีนี้แทนตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น มีเสือในวัดจำนวนเท่าใดที่ถูกแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายตั้งแต่พ.ศ. 2542 ใครคือผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลัง เส้นทางการซื้อขายเป็นเช่นไร และการซื้อขายแลกเปลี่ยนของวัดเสือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยหรือไม่

Sharon ถามต่อ “หากพิสูจน์ได้ว่าทางวัดมีความเกี่ยวข้องกับการค้าหรือการแลกเปลี่ยนเสือผิดกฎหมายจริง จะยังออกใบอนุญาตเพื่อเปิดเป็นสวนสัตว์ให้กับทางวัด หรือไม่”
นายอดิศร กล่าว “หากมีหลักฐานยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่างวัดเสือกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้ ทางกรมอุทยานฯ ก็จะไม่ออกใบอนุญาตเพื่อเปิดเป็นสวนสัตว์แน่นอน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง