ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แถลงผลสอบอุทยานราชภักดิ์ ไม่พบจ่ายค่าหัวคิว มีแต่จ่าย "ค่าที่ปรึกษา" 20 ล้านบาท

การเมือง
23 มี.ค. 59
17:57
730
Logo Thai PBS
แถลงผลสอบอุทยานราชภักดิ์ ไม่พบจ่ายค่าหัวคิว มีแต่จ่าย "ค่าที่ปรึกษา" 20 ล้านบาท
พล.อ.ไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม-ป.ป.ท.-สตง.แถลงผลตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ ทั้งค่าหัวคิวและการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ

วันนี้ (23 มี.ค.2559) ที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้งบประมาณ และเรื่องค่าหัวคิวการก่อสร้างโครงการฯ เป็นหัวข้อสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีการยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบ และที่ผ่านมาก็ให้มีการตรวจสอบในทุกประเด็นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยมอบหมายให้ ป.ป.ท.สอบค่าหัวคิว และ สตง.ตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ

ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.กล่าวถึงผลการตรวจสอบค่าหัวคิวที่ ป.ป.ท.รวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประเด็นการตรวจสอบค่าหัวคิวโรงหล่อว่า เจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ประกอบการโรงหล่อ 5 แห่ง จากทั้งหมด 6 แห่ง มาสอบปากคำได้ข้อมูลสรุปได้ว่ามีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นค่าตอบแทนทางธุรกิจที่ชักนำเสนองานก่อสร้างมาให้ มีตัวเลขสูงประมาณร้อยละ 6-7 ของค่าจ้างงาน ซึ่งราคาค่าจ้างของแต่ละราย เท่ากับราคาของท้องตลาดในเบื้องต้นจึงไม่พบความผิดปกติ

ด้านนายพิสิษฐ์ ผู้ว่าการ สตง.เปิดเผยการตรวจสอบเงินบริจาคและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าแม้ช่วงแรกจะมีการใช้ชื่อบัญชีของสวัสดิการกองทัพบก แต่ก็มีเงินบริจาคเข้ามาในบัญชีธนาคาร แยกออกจากเงินที่มีอยู่เดิมของบัญชีสวัสดิการ โดยพบมีธนาคาร 6 ธนาคาร ที่เปิดรับให้ประชาชนได้บริจาค และมีการให้บริจาคผ่านร้านสะดวกซื้อ และตั้งตู้บริจาคหน้าโครงการก่อสร้าง ทั้งนี้กองทัพบก มีการจัดเตรียมใบเสร็จรับเงินไว้สำหรับผู้บริจาค แต่ในปัจจุบันกองทัพบกปิดบัญชีไปแล้ว 6 ธนาคาร คงเหลือไว้เพียงแค่ธนาคารเดียวเท่านั้น

เมื่อตรวจสอบยอดเงินบริจาคผ่านบัญชีธนาคารโดยตัดยอดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีจำนวนกว่า 733 ล้านบาท และมีเงินเบิกจ่ายไปจำนวน 458 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้างองค์พระบรมราชานุสาวรีย์จำนวน 318 ล้านบาท และที่เหลือเป็นเงินจัดสร้างเหรียญที่ระลึกที่นำมาสมทบเพิ่มเติมภายหลังอีก 105 ล้านบาท โดยล่าสุดพบเงินคงเหลือทั้งหมดเพียง 140 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบงบประมาณที่ตั้งไว้ในส่วนของกองทัพบกในการสร้างรั้วโครงการฯ และดูและปรับปรุงพื้นที่โครงการ จำนวน 2 สัญญา จำนวน 27 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นการเบิกจ่ายปกติ

ประเด็นค่าจัดซื้อต้นไม้ในโครงการฯ สตง.ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติ โดยต้นไม้มีผู้บริจาคให้ แต่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ที่เป็นค่าแรง ค่าขนย้าย ซึ่งได้จากการบริจาคเป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาท

ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบราชการหรือไม่ ไม่พบความผิดปกติ เช่นเดียวกับเนื้องาน ร้อยละ 95 เรียบร้อยตามโครงการทุกอย่าง

ประเด็นคุณภาพขององค์อนุสาวรีย์ สตง.ได้ทำพิธีขอขมาพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์เพื่อตัดเนื้อโลหะจากพระบรมราชานุสาวรีย์ไปตรวจที่คณะวิศวะ จุฬาฯ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าเป็นเนื้อโลหะคุณภาพดีและเป็นไปตามสเป็ก

ประเด็นค่าหัวคิว สตง.สอบข้อเท็จจริงจาก 5 โรงหล่อ จากทั้งหมด 6 โรงหล่อ พบว่ามีการจ่ายค่าที่ปรึกษาและค่าแนะนำให้ได้งานให้ "เซียนอุ๊" เป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการของโรงหล่อ 5 แห่ง กองทัพไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เงินจำนวนนี้มีการจ่ายระหว่างการก่อสร้างโครงการ ฯ ซึ่งเป็นความสมัครของทั้งสองฝ่าย ต่อมามีการทักท้วงถึงเงินจำนวนนี้ แต่เซียนอุ๊ได้ใช้ไปบางส่วนแล้ว จึงได้นำส่วนที่เหลือจาก 20 ล้านบาท มาคืนโรงหล่อและนำมาบริจาคคืน ซึ่งกองทัพบกได้ออกใบเสร็จรับเงินให้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ประเด็นค่าหัวคิว สตง.ชี้ว่า กรณีของโครงการอุทยานราชภักดิ์ต่างจากกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกจากเอกชน แต่กรณีนี้เป็นเอกชนจ่ายกันเองด้วยความสมัครใจ

"นี่เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ ในทางสรรพากรอาจจะเรียกได้ว่าเป็น management fee หรือค่าโสหุ้ย ซึ่งอาจจะมีได้" พิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.กล่าว "ถามว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาหรือไม่ ถ้าเอกชนยืนยันว่าจำเป็นเราก็คงจะต้องรับฟัง เว้นแต่ว่าจะมีอะไรมากกว่านี้ เราต้องไปพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง"

ล่าสุด สตง.พบว่ามีการเปลี่ยนชื่อกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เป็นชื่อกองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์ และมีการเปิดบัญชีใหม่ในชื่อ มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ และมีเงินในบัญชี โดยไม่มีการใช้จ่าย จำนวน 108 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ได้ตรวจสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วไม่พบว่ามีการตกแต่งบัญชีแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง