วันนี้ (9 มี.ค.2559) นายสุพจน์ เจิมสวัสดิ์พงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบข้อมูลการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำบาดาลหลายโครงการ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เอื้อประโยชน์ให้มีการเรียกเก็บค่าหัวคิวร้อยละ 10-30 ส่งผลให้เกิดความเสียหายกว่า 100 ล้านบาทว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยืนยันไม่มีการทุจริตที่เป็นกระบวนการ ส่วนจะเป็นการทุจริตเฉพาะตัวบุคคลหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ และหากพบจะเอาผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุ จากการพบผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับแจ้งว่ากรณีนี้มาจากข้อร้องเรียนที่พบการยักยอกหัวคิวขุดเจาะน้ำบาดาลหลายโครงการ และเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาล สตง.จึงต้องการให้ตรวจสอบแต่ไม่ได้ระบุว่าใครกระทำผิด สำหรับกรณีการหักหัวคิวยืนยันว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเอง ไม่เคยว่าจ้างเอกชน ตามที่ สตง.ตั้งข้อสังเกต แต่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดช่องโหว่จากท้องถิ่นที่ไปว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ
ส่วนข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อว่ามีเอกชน 3 บริษัทที่เข้ามารับงานอย่างต่อเนื่องนั้น ยอมรับว่าทั้ง 3 บริษัททำงานร่วมกับกรมจริง แต่ยังมีอีกกว่า 20 บริษัทที่ได้รับงานเช่นกัน ซึ่งในส่วนงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำบาดาล แต่เป็นการก่อสร้างอาคารสูบน้ำ ถังพักน้ำ หรือวางระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ จึงไม่ได้เป็นไปตามข้อสังเกตที่เกิดขึ้น
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ปี 2559 ตั้งเป้าไว้กว่า 6,000 บ่อ แบ่งเป็นน้ำดื่มให้กับโรงเรียน 688 บ่อ พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล 1,836 บ่อ พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 1,311 บ่อ พื้นที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,195 บ่อ ขณะนี้ทุกโครงการดำเนินการไปแล้ว 2,200 บ่อ คาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ จะเจาะเพิ่มได้อีกกว่า 2,000 บ่อ
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ปี 2559 ตั้งเป้าไว้กว่า 6,000 บ่อ แบ่งเป็นน้ำดื่มให้กับโรงเรียน 688 บ่อ พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล 1,836 บ่อ พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 1,311 บ่อ พื้นที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,195 บ่อ ขณะนี้ทุกโครงการดำเนินการไปแล้ว 2,200 บ่อ คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะเจาะเพิ่มได้อีกกว่า 2,000 บ่อ