ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สธ."ไม่พอใจผล"คุมยุงลาย"หลังมีผู้เสียชีวิต16 คน-สั่งสสจ.ทุกแห่งเร่งรณรงค์ปชช.

สังคม
18 มี.ค. 56
07:20
156
Logo Thai PBS
"สธ."ไม่พอใจผล"คุมยุงลาย"หลังมีผู้เสียชีวิต16 คน-สั่งสสจ.ทุกแห่งเร่งรณรงค์ปชช.

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลควบคุมลดปริมาณยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก พบตั้งแต่ต้นปีมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 คน ป่วยกว่า 10,000 คน ขณะที่สั่งสสจ.ทุกแห่ง เร่งลดปริมาณยุงลาย พร้อมรณรงค์ให้ปชช.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการควบคุมจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกว่า ผลการควบคุมยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 11 มีนาคม 2556 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศทั้งสิ้น 13,200 คน เฉลี่ยป่วยสัปดาห์ละ 1,000-1,500 คน ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 คน พบเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีมากกว่าครึ่ง โดยจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตมี 9 จังหวัด ได้แก่ สงขลา 5 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ที่เหลือได้แก่ กทม. สมุทรปราการ นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ปัตตานี ยะลา จังหวัดละ 1 ราย 
 
นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูงกว่าในช่วงเดียวเมื่อเทียบกับปี 2554 ถึง 4 เท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บ้านของประชาชนยังมียุงลายหลบซ่อนอยู่ภายในบ้าน โดยผลจากการสุ่มตรวจลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนย่านพาณิชย์ใน 190 อำเภอ โดยหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค พบว่าภาชนะขังน้ำเพื่อใช้ดื่มหรือใช้ภายในบ้านเรือน กว่าร้อยละ 70 มีลูกน้ำยุงลายชุกชุมมาก 
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เร่งลดปริมาณยุงลาย ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะลูกน้ำยุงลายในบ้าน, เปลี่ยนน้ำในภาชนะขัง 7 วัน หรือปิดฝา ทั้งนี้ ยังสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.สำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ชุมชนด้วย
 
ขณะเดียวกัน นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขประธานวอร์รูมฯ กล่าวว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย โดยมีฝนตกบ้าง ไม่ตกบ้าง ยิ่งเป็นการเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนยุงมากขึ้น กล่าวคือ ไข่ยุงลายที่ทนความแห้งแล้งติดภาชนะอยู่ได้เป็นปีๆ เมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงก็จะแตกตัวเป็นลูกน้ำยุงลายภายใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อบินได้จะหากินเหยื่อในระยะประมาณ 100 เมตร ยุงตัวเมียมีชีวิตได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อผสมพันธุ์กับตัวผู้แล้วจะวางไข่ได้ 4-6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 100 ฟอง และหากปล่อยให้ยุงตัวเมีย 1 ตัวมีชีวิตอยู่ จะเพิ่มยุงรุ่นลูกได้ถึง 500 ตัว รุ่นหลานอีกทวีคูณ ทั้งนี้ หากประชาชนหรือลูกหลานมีอาการไข้ ตัวร้อน ติดต่อกัน 3 วัน ขอให้รีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที
 
ภาพประกอบ : http://www.biolib.cz
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง