ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ส่วย สติกเกอร์” แลกช่องทางด่วน ผู้ละเมิดกฎหมาย

อาชญากรรม
31 พ.ค. 66
16:21
970
Logo Thai PBS
“ส่วย สติกเกอร์” แลกช่องทางด่วน ผู้ละเมิดกฎหมาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยิ่งขยาย ยิ่งเห็นชัด เมื่อปัญหาการจ่าย ”ส่วย” ในสังคมไทย ไม่ได้พบแค่ “สติกเกอร์” ส่วยรถบรรทุก ก็ยังลุกลามไปทุกวงการ ทั้ง ส่วยรถตู้โรงเรียน ส่วยขายล็อตเตอรี่เกินราคา ส่วยสถานบันเทิง ส่วยร้านอาหาร ส่วยตู้แดง ส่วย ฯลฯ

แม้ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะยอมรับว่า สติกเกอร์ส่วยมีจริง และได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว บก.ปปป. ในฐานะรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจทางหลวงเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม 

แต่ต้องไมลืมว่า สติกเกอร์ส่วย หรือ การจ่ายส่วย ไม่ได้ใช้เฉพาะกับรถบรรทุก รถตู้นักเรียน ส่วยสติกเกอร์ขายสลากเกินราคา แต่ยังมีการจ่ายส่วยในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

เปิดส่วย 2019 “ราคา” ที่สถานบันเทิงต้องจ่าย

ข้อมูลจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2019 พบปัญหาร้องเรียนจากผู้ประกอบการสถานบันเทิงผับ-บาร์ ใน จ.ภูเก็ต ต้องจ่ายส่วยแห่งละ 37,300 บาทต่อเดือน ให้กับผู้ที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 25 หน่วย

และหากสถานที่แห่งนั้นมีลูกจ้างเป็นต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ต้องจ่ายรายหัวอีกหัวละ 9,100 บาท เช่น ถ้ามี 3 คนก็ต้องจ่าย 27,300 บาท ประเมินว่าทั่วเกาะภูเก็ตมีสถานบันเทิงราว 1,000 แห่ง เท่ากับต้องจ่ายส่วยรายเดือนรวมกันมากกว่า 37 ล้านบาท ยังไม่รวมส่วยแรงงานต่างด้าวกว่า 27 ล้านบาท

การเปิดโปงขบวนการส่วยใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุด แต่ปัญหาการจ่ายส่วยก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พลีชีพ 2022 สิงห์รถบรรทุกดับเครื่องชน ”ส่วย”

ปัจจุบันมีรถบรรทุกสิบล้อ หกล้อ รถลากพ่วงที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 1,096,765 ล้านคัน (ม.ค.2561) ไม่รวมรถกระบะและรถตู้ โดยประเมินว่าครึ่งหนึ่งของรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน หรือราว 500,000 คัน เลือกที่จะบรรทุกน้ำหนักเกินแลกกับการจ่ายส่วย - สินบน เฉลี่ยคันละ 3,500 บาทต่อเดือน ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนรถแล้วจะมีมูลค่ามากถึง 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ข้อมูลจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในแต่ละปีมีการจ่ายส่วยทางหลวงให้แก๊งอั้งยี่ มาเฟียทางหลวง ปีละประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีรูปแบบวิธีการเปลี่ยนจากการเหมาจ่ายรายปี เป็นจ่ายรายเดือน

โดยผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกที่บรรทุกเกินน้ำหนักจะผลิตสติกเกอร์สีเป็นรูปต่าง ๆ แล้วนำไปติดอยู่ที่หน้ารถบรรทุก รูปลักษณ์ของสติกเกอร์จะเปลี่ยนใหม่ในทุก ๆ เดือน

ทั้งนี้รถบรรทุก 1 คัน จะต้องจ่ายประมาณ 10,000-27,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบรรทุกน้ำหนัก และมีรถบรรทุกที่จ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน

ส่องส่วย 2023 สติกเกอร์ “หวย-เบอร์ทอง”

หลังจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาขยี้ข้อมูลซ้ำเรื่องปัญหาส่วยรถบรรทุก ก็มีผู้ออกมาเปิดเผยการจ่ายส่วยสติกเกอร์เพื่อแลกกับการไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกุม เนื่องจากขายล็อตเตอรี่เกินราคาที่กำหนดไว้ใบละ 80 บาท แต่ผู้ค้าขายจริงใบละ 100 บาท

แม้ผู้ค้าจะทราบว่า การขายสลากเกินราคาเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อจำเป็นต้องขายในราคาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงยอมจ่ายเงินซื้อสติกเกอร์ในราคา 500 บาทต่องวด เพื่อแลกกับการที่จะไม่ถูกตำรวจจับกุม

โดยจุดสังเกตที่ผู้ซื้อล็อตเตอรี่จากแผงอาจจะเคยเห็น คือ บนแผงล็อตเตอรี่นั้น ๆ จะมีตัวการ์ตูน หลายรูปแบบ เช่น ตัวการ์ตูนรูปไก่ รูปน้ำเต้า หรือรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษ ssk pass และมีหมายเลขลำดับเขียนติดอยู่ด้วย โดยติดบริเวณมุมด้านซ้ายแผงของแผงล็อตเตอรี่

ผู้ค้ารายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า พ่อค้า-แม่ค้าขายสลากในพื้นที่ต้องซื้อสติกเกอร์ดังกล่าวกันทุกคน เหตุที่ต้องซื้อสติกเกอร์เพราะต้องขายล็อตเตอรี่ในราคาใบละ 100 บาท ขายในราคา 80 บาทไม่ได้ เพราะต้นทุนที่รับมาราคาสูงกว่านี้ การซื้อสติกเกอร์เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา

นอกจากวิธีการนี้แล้ว ยังมีการเรียกเก็บเงินในรูปแบบของเบอร์ทองที่มีเลขสามตัว ราคาใบละ 200 บาท โดยพ่อค้าล็อตเตอรี่รายใหญ่ต้องซื้อเบอร์ทอง 8 ใบ เป็นเงิน 1,600 บาท ราคาซื้อขายจะลดหลั่นกันตามขนาดของผู้ค้าว่าเป็นรายเล็กหรือรายย่อย โดยรายย่อยสุดต้องซื้อเบอร์ทอง 2 ใบ เป็นเงิน 400 บาท

เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ค้าฯ จะต้องเก็บเบอร์ทองไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ถูกตำรวจเรียกดู หากใครไม่จ่ายก็จะถูกจับและเสียค่าปรับเป็นหมื่น ทำให้คนขายต้องยอม ซึ่งเบอร์ทองที่ซื้อจะต่างกับเบอร์ทองทั่วไป ตัวเลขของเบอร์ทองหากถูกรางวัลจะไม่ได้รับเงิน เพราะเป็นส่วยแลกกับการไม่ถูกจับ

เป็นที่รับรู้กันว่า กำหนดอัตราราคาของส่วยจะมี ”สติกเกอร์” เป็นตัวกลางแสดงถึงการ “สมยอม” จ่ายเงิน เพื่อเป็นค่าคุ้มครองระหว่างตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายและผู้ละเมิดกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง