สัปดาห์หน้า "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเรียกประชุมนายก อบจ.ทั้งจังหวัดที่แพ้และชนะ เพื่อถอดบทเรียน ว่า สาเหตุและปัจจัยใด ได้นำมาสู่ความปราชัยและคว้าชัยได้ หลังจาก เพื่อไทย ส่งผู้สมัครในนามพรรคถึง 17 จังหวัด และได้เพียง 10 จังหวัด ไม่ตรงตามเป้าที่คาดหวังไว้ โดยแพ้ให้กับ "เครือข่ายสีน้ำเงิน" และ "กลุ่มบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง" ในท้องถิ่น นั้น ๆ
ทั้ง ๆ ที่ในหลายจังหวัด "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงลงพื้นที่ประกาศศักดา "แพ้ไม่ได้" และกลับมาทวงคืนพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ศรีษะเกษ และ จ.เชียงราย แต่ในที่สุด "บ้านใหญ่" ก็ยังมีศักยภาพเหนือกว่า
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLe7DhGpbykTgfhVb7WjEJQipwi.jpg)
อ่านข่าว: เลือกตั้งท้องถิ่น-อบจ. ทำไมต้อง “บ้านใหญ่”
นักวิเคราะห์การเมือง ส่วนใหญ่มองว่า ระบบอุปถัมภ์ ของเครือข่าย บ้านใหญ่ยังสามารถ "ครอบงำ" การเมืองท้องถิ่นได้ จนทำให้ชาวบ้านในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์ไม่สามารถใช้ "เจตจำนงเสรี (Free Will)" เพราะผูกติดอยู่กับการเมืองเชิงสัมพันธ์ ที่เน้นความคุ้นเคย ความเอาใจใส่ ของผู้แทน มากกว่าการเมืองเชิงเหตุผล ที่พิจารณานโยบายและความก้าวหน้าของประเทศเป็นหลัก
อ่านข่าว: ถอดรหัส ผลเลือกตั้ง อบจ. สมรภูมิ " 2 พรรค 1 ค่ายสีน้ำเงิน"
เคยมีการตั้งคำถามว่า ปัญหาอยู่ที่ "ระบบเลือกตั้ง" หรือไม่ หากไม่สามารถกำจัดการเมือง "แบบเดิม ๆ" ที่บรรดาผู้คนยุคใหม่มองว่า ทำให้ประเทศล้าหลังและหยุดการพัฒนาทางการเมือง ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้การเลือกตั้ง "ระบบสุ่ม (Random)" เพื่อคัดเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยจับสลาก (Lottocracy/Sortition)" เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทั้งระบบ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SSIQlCnVxXw5zBo.jpg)
"สุ่มตัวแทน" เลือกตั้ง "ใช้อำนาจรัฐ" เท่าเทียม ?
ระบบการเมืองปัจจุบันในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยจะใช้ "ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (Psephocracy)" คือ ประชาชน "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ลงคะแนนเสียงเลือก "ผู้แทน (Representative)" ไปทำหน้าที่แทนตนเองในสภา โดยผู้แทนจะมาจาก "จำนวน" ใครได้มากกว่า ถือว่าชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไป
ตามหลักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณ (Greek Political Philosophy) จะพบปัญหาอยู่ว่า จำนวนคะแนนเสียงที่ส่งให้ผู้แทนได้รับชัยชนะในพื้นที่นั้น สะท้อน "คุณภาพ" หรือไม่ เพราะบางครั้ง การเลือกตั้งในระดับ "หมู่บ้าน" หรือ "ตำบล" มักมีอิทธิพลที่กำกับควบคุมไม่ให้ผู้เลือกตั้ง "ตัดสินใจบนฐานของนโยบาย" แต่เลือกกาบัตรภายใต้ร่มเงา "ความสัมพันธ์" มากกว่า
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SSLHGsnj0DyK1jq.png)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
ขณะที่การตัดสินผลแพ้-ชนะจาก เสียงส่วนมาก (Majority) ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะ ไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างแท้จริงว่า เสียงส่วนมากนั้น มีคุณภาพอย่างแท้จริงหรือไม่
ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหานี้ ชาวกรีกโบราณได้คิดไว้เป็นอย่างดี โดยใช้ "Kleroterion" หมายถึง เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแผ่นหินขนานใหญ่ มีช่องให้เสียบแผ่นหินเล็ก ๆ ที่สลักชื่อของชาวเมืองทั้งหมดในนครรัฐเอเธนส์ โดยสิ่งนี้จะถูกเสียบไว้ในช่องของแผ่นหินใหญ่ หลังจากนั้น จะใส่แผ่นหินแบนหลากสี และแต่ละสีจะแทนตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสภานครรัฐ ปล่อยลงมาตามลำดับของชื่อที่เสียบไว้ หากได้แผ่นหินสีใดตกลงมาในชื่อตน เท่ากับว่า จะได้ดำรงตำแหน่งนั้นไป
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SSHieIYl9unnzZD.jpg)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
กล่าวคือ การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร เกิดจาก ดวง ล้วน ๆ
บทความวิจัย Lottocracy or psephocracy? Democracy, elections, and random selection เขียนโดย แดเนียล เฟอร์ริส (Daniel Hutton Ferris) ชี้ว่า การคัดเลือกนักการเมืองแบบ "วัดดวง" สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก เพราะ สิ่งนี้ทำให้ "คนเท่ากัน" อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลสูง ร่ำรวยเงินทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือต่ำติดดิน ยากจนข้นแค้น ลำบากยากเข็ญ สิ่งที่มีเท่ากันคือ "พื้นฐานอำนาจ" ก่อนที่จะวัดดวงกับ Kleroterion
แดเนียล เฟอร์ริส อธิบายเพิ่มเติมว่า ประชาธิปไตยแบบวัดดวง ให้โอกาส "ขยับสถานภาพ" ของประชาชนได้โดยง่าย วันดีคืนดี เป็นผู้ยากไร้ เตะฝุ่น ขาดเงินประทังชีวิต หากเทพเจ้าอวยชัย พลิกชีวิตกลายเป็นนักการเมือง หรือระดับรัฐมนตรีได้ง่าย ๆ กระนั้น การวัดดวงจะครอบคลุมได้ ต้องเป็นนครรัฐที่มี "พื้นที่และประชากรจำกัด" ไม่เกิน 2,000 คน จึงไม่เหมาะสมกับประเทศที่อาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล และประชากรหลักล้านคน
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SSKClMkMXxH7Fvo.jpg)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
ในสมัยอาณาจักรโรมัน (Roman Empire) ที่เน้นทำสงครามเพื่อขยายและผนวกดินแดน จึงไม่ได้มีการวัดดวงทางการเมือง แต่ปกครองด้วยระบอบ "คณาธิปไตย (Origarchy)" หมายถึง ปกครองโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในที่นี้ คือ "Senate" เรื่อยมาจนถึงการปกครองแบบ "ราชาธิปไตย (Monarchy)" ในยุคกลาง และต่อ ๆ มา ที่กายภาพของการปกครองไม่ได้นับรวมประชาชนเข้ามาในสมการด้วย
พัฒนาการต่อมาของประชาธิปไตยวัดดวง จึงต้องมีการใช้ "หวย (Lottery)" เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสามารถพิมพ์ได้จำนวนมากกว่ามานั่งเหลาแผ่นหิน และสามารถกระจายไปยังพื้นที่ห่างไกลศูนย์กลางต่าง ๆ ได้ง่ายมาก ผู้คนไม่จำเป็นต้องมาสุมหัวกันนั่งลุ้นผลแผ่นหินสี แต่สามารถไป "ตรวจหวย" ได้ตามประกาศประทับตราแผ่นดิน ตามศาลาว่าการโดยง่าย
ยกตัวอย่างใน "สาธารณรัฐเจนัว (Genoa)" รัฐบาลได้ออกสลากขึ้นมา ไม่เพียงแต่ขายเพื่อเก็บภาษีจากผู้ยากไร้ ที่หวังรวยทางลัดและพลิกชีวิต แต่ยังแนบ "สิทธิพิเศษ" ในการเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนสภา หากประกาศผลและออกมาว่าถูกหวย นอกจากพลิกชีวิตจาก "รางวัล" เป็นจำนวนเงินแล้ว "สถานภาพทางสังคม" ยังตามมาในฐานะ "สส." อีกด้วย
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SRz1VBFNHfK2rWi.png)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
เอเฟรียม เดวิด (Ephraim David) ยังยอมรับใน บทความวิจัย Selection by Lot and Democracy: New Trend, Ancient Model ความว่า การใช้หวยเพื่อนำผู้คนเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ เป็นนวัตกรรมการ "แจกความเท่าเทียม" อย่างถึงที่สุด เพราะการจะถูกหวยได้นั้น ยากกว่าการลุ้นแผ่นหินมาก อัตราความสำเร็จแทบจะไม่ถึงร้อยละ 1
มิหนำซ้ำ ยังมีการ "บอนไซ" ตำแหน่งทางการเมือง ให้เป็นเพียงฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารยังคงเป็นพระมหากษัตริย์ หรือ ผู้ครองนคร เช่นเดิม ทำให้ "คุณภาพ" ของการใช้อำนาจไม่สะเปสะปะ หรือตกอยู่ในมือของ "ผู้ไม่มีความสามารถ"
เอเฟรียม เดวิด เสนอว่า ในโลกที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หวยไม่อาจใช้วัดดวงทางการเมืองได้อีกต่อไป เพราะ ตำแหน่งสำคัญ ๆ ต้องใช้ "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ" เท่านั้น จึงจะไปรอดได้ เช่น "ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ" หากให้ผู้ขาดความเข้าใจกระบวนการปรับอัตราภาษี หรือ กระบวนการกำหนดนโยบายทางการเงิน ประเทศชาติย่อมล่มจมแน่นอน
ดังนั้น การใช้หวย จึงต้องสงวนไว้ใช้กับ "ผู้มีคุณลักษณะเท่ากัน" เช่น แคนดิเดทผู้ว่าแบงค์ชาติ ที่ความรู้ความสามารถไม่แตกต่างกันมาก แทนที่จะให้คณะกรรมการฯ เลือกขึ้นมา ซึ่งมีคำครหาว่าอยุติธรรม แต่ให้วัดดวงไปเลย
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SR0O0Ea9vgRq582.png)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
"คนไม่เท่ากัน" โอกาส "ประชาธิปไตย" ตัวแทน"
การวัดดวง คล้ายจะฝากไว้กับโชคชะตา แต่มันคือ สิ่งที่เหมาะสม หรือ "Practical" ที่สุด ในฐานะ "ความยุติธรรม" ในการคัดเลือกผู้ใช้อำนาจรัฐ เพราะคำว่าดวง ไม่แยแส "ความหลากหลาย" ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน หากดวงดี ก็ได้ตำแหน่งที่ปรารถนา หาก ดวงกุด ต้องกลับไปเป็นประชาชนเช่นเดิม สะท้อนหลักการ "คนเท่ากัน" อย่างมาก
แต่ปัญหา คือ การวัดดวง หากเกิดขึ้นในตำแหน่งสำคัญ ๆ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบตามมา หากได้ผู้ที่มีความรู้ไม่ตรงตำแหน่ง หรือขาดความรู้ความเข้าใจในตำแหน่ง และการใช้อำนาจ ท้ายที่สุด ความเคราะห์ร้ายจะวกกลับมาทำร้ายประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น
บทความวิจัย Lottocracy Versus Democracy เขียนโดย สเตฟาน รูมเมนส์ (Stefan Rummens) และ ราฟ กรีเนนส์ (Raf Geenens) เสนอว่า ท้ายที่สุด สังคมการเมืองและการปกครอง ยังต้องการ "ผู้มีปัญญา" ขึ้นมาใช้อำนาจ และกำกับทิศทางการบริหารประเทศตลอดเวลา ไม่อาจปล่อยให้ใครเข้ามาใช้อำนาจได้แบบฟลุ๊ค ๆ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIeY8N4m3SSFvSNNaAFk8wMR.jpg)
สเตฟาน รูมเมนส์ และ ราฟ กรีเนนส์ เห็นสอดคล้องกันว่า ระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า "คนเราไม่เท่ากัน" ให้ได้เสียก่อน ผู้คนที่ด้อยปัญญากว่า ต้องยอมรับให้ได้ว่า ตนไม่สมควรปกครอง หน้าที่ คือ ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ที่ "ผ่านคุณสมบัติ" เพื่อปกครองไปใช้อำนาจให้ได้
ในโลกแห่งสัมพัทธนิยม (Relativism) ที่เคารพความหลากหลาย ทั้งในทางเพศวิถี เผ่าพันธุ์ ชาติกำเนิด ชนชั้น หรือ อุดมการณ์ หากจะเพิ่มเติมความแตกต่าง "ทางปัญญา" ในฐานะองคาพยพหนึ่งของความหลาก หลาย ล้วนเป็นผลดีต่อกระบวนการประชาธิปไตย "เพื่อการปกครอง" ทั้งสิ้น