ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทักษิณ" เผยแก๊งคอลเซนเตอร์ ปลอมเสียง "ทรัมป์" โทรหานายกฯ

การเมือง
19 ม.ค. 68
08:52
163
Logo Thai PBS
"ทักษิณ" เผยแก๊งคอลเซนเตอร์ ปลอมเสียง "ทรัมป์" โทรหานายกฯ
"ทักษิณ" เผยแกงคอลเซ็นเตอร์ ใช้ AI ปลอมเสียงเป็น "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ โทรหานายกรัฐมนตรีหลอกลวงให้โอนเงินไปฮ่องกง ลั่นปัญหาคอลเซนเตอร์ต้องจบในปีนี้

หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีแก๊งคอลเซนเตอร์ โทรมา เพื่อหลอกลวงให้บริจาคเงินแต่โชคดีที่เอะใจเสียก่อน จึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น

วันที่ 18 ม.ค.2568 นายทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม ได้ระบุถึงเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่แม้แต่ยังถูกหลอก โดยมีการโทรศัพท์มาหานายกรัฐมนตรี แล้วใช้เอไอทำเสียงเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้โอนเงินไปที่ฮ่องกง ซึ่งขบวนการใหญ่ของแก๊งอยู่ที่เมียนมา กับกัมพูชา โดยประเทศเพื่อนบ้านให้ความร่วมมือดี และจะเริ่มเบาบางลง ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านจะไม่มีแกงคอลเซนเตอร์ และจะให้จบในปีนี้

เปิดที่มาเสียง AI นำเสียงคนหลอกลวง

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยอมรับว่า ปัจจุบันการใช้ AI เจนเนอร์เรทเสียงมาหลอกลวง มีความเหมือนจริงมากขึ้น ซึ่งแก๊งคอลเซนเตอร์ นำเสียงบุคคลมาจาก 3 วิธีหลักๆ ด้วยกัน

วิธีที่ 1 กรณีเป็นคนมีชื่อเสียง สามารถบันทึกเสียงจาก สื่อต่างๆ มาให้ AI

วิธีที่ 2 หากประชาชนเผลอไปกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาฝังตัวในเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งนอกจากการดูดเงินจากบัญชีแล้ว อาจดึงข้อมูลส่วนบุคคล เห็นข้อความการสนทนาของเราทั้งหมด และจะมีการดึงข้อมูล รวมทั้งการบันทึกเสียงเพื่อนำไปใช้

วิธีที่ 3 วิธีการใช้โทรศัพท์เข้ามาบันทึกเสียงยังถือ ซึ่งมิจฉาชีพจะยังไม่ได้ข้อมูลเชิงลึก ที่สำคัญการสุ่มบุคคลทั่วไปทำได้ยาก มิจฉาชีพต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลมากพอสมควร เพื่อไปหลอกลวงคนใกล้ชิด การบันทึกเสียงจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก

และ ณ วันนี้การใช้เสียง AI มาหลอกลวงยังถือว่าเป็นสัดส่วนน้อย แต่ต้องระมัดระวังเพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้อาจหลงเชื่อได้ง่าย

สาเหตุข้อมูลคนไทยหลุด "พฤติกรรมบุคคล - ภัยคุกคาม"

พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC เชื่อว่า แก๊งคอลเซนเตอร์อาจได้ไปเฉพาะเบอร์โทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรี หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่ใช้มาก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะปัจจุบัน มี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 มาบังคับใช้ ทำให้ข้อมูลที่รั่วไหลลดลง และสามารถสกัดได้มากขึ้น

สาเหตุที่ข้อมูลรั่วไหลตกไปถึงมือคอลเซนเตอร์ มาจาก 2 สาเหตุหลักๆ

- พฤติกรรมบุคคลในองค์กร ที่องค์กรเปิดเผยข้อมูลเกินความจำเป็น เช่นรายชื่อผู้ได้รับรางวัล การคัดเลือก แต่มีการเปิดเผยข้อมูลจนมิจฉาชีพเก็บไปใช้ประโยชน์ หรือคนในนำข้อมูลออกมาเปิดเผย

- ภัยคุกคาม ที่เกิดจากการใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์ เข้าถึงเว็บไซต์ ทำให้อุปกรณ์ถูกแฮกและขโมยข้อมูลไป

แต่จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่รั่วไหล หลัง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2565 สัดส่วนลดลงเพราะมีมาตรการเฝ้าระวัง ระงับยับยั้งทันทีที่พบว่าข้อมูลรั่วไหล แต่ต้องยอมรับว่า มีการนำข้อมูลเก่าที่หลุดมานานแล้ว มาเวียนใช้อยู่ตลอด สิ่งสำคัญสำหรับประชาชน คือ

- เบอร์แปลกไม่รับ หรือใช้วิธีโทรกลับ ถ้าโทรแล้วไม่ติดให้สันนิษฐานว่าเป็น คอลเซนเตอร์ อย่าหลงโอนเมื่อพบพฤติกรรมต้องสงสัย

- ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ให้ข้อมูลเกินความจำเป็นโดยเฉพาะเลขประชาชน 13 หลักที่ไม่ควรให้กับใคร
หากพบความผิดปกติ สามารถแจ้งผ่าน PDPC เพื่อให้การคุ้มครองทำได้ อย่างรวดเร็ว และหลังเกิดเหตุสามารถเรื่องร้องเรียน และสามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

อ่านข่าว :

“ทักษิณ” หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ชี้นครพนมต้องเปลี่ยน

อย่าภูมิใจโดน "แก๊งคอล" หลอก นายกฯ-มท.1 คนไทยใครจะเหลือ

นายกฯ หวิดถูกแก๊งคอลเซนเตอร์ใช้ AI ปลอมเสียงผู้นำต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง