วันนี้ (10 ม.ค.2568) มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยา แถลงสถานการณ์เด็กหายและดีเอ็นเอโปรคิดส์ การใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการตามหาเด็กหาย ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยสถิติรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงาปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 คน ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง 6%
สาเหตุหลักกว่า 72% หรือ 227 คน คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 9% หรือ 29 คน และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 คนในปีที่ผ่านมา
ช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดคือช่วงอายุ 11-15 ปี รวม 171 คน รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 103 คน และช่วงแรกเกิดถึง 10 ขวบ รวม 40 คน
อ่านข่าว : เตือนภัย "เด็ก" สถิติ 1 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ 346 คดี
ในห้วงปลายปี 2566-2567 มีเด็กและเยาวชนถูกชักชวน หลงเชื่อและถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกว่า 11 คน โดยอายุน้อยที่สุดที่ถูกหลอกไปทำงาน มีอายุเพียง 14 ปี
ล่อลวงด้วยการชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเว็บไซต์ รายได้ดี ภายหลังจึงรู้ว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์ และบางคนติดต่อให้ครอบครัวส่งเงินเพื่อไถ่ตัวกลับบ้าน
พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึง โครงการดีเอ็นเอ-โปรคิดส์ (DNA-PROKIDS) ว่า เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป โดยพ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าลูกหาย หากพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมา ก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่ แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา
เมื่อพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ สงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไป จะทำการตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก และจะบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอฯ ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง
อ่านข่าว : ใช้โซเชียลฯ เลี้ยงลูก จิตแพทย์เตือนเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้
การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ กลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กสูญหายออกจากบ้าน และสำหรับพ่อแม่ที่ลูกหายสามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน ทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อเก็บข้อมูล
ขณะที่วันนี้ (10 ม.ค.) มูลนิธิกระจกเงาได้พาแม่ของเด็กหาย 3 คนที่หายตัวไปนานหลายปี ไปเก็บสารพันธุกรรมในโครงการดีเอ็นเอ-โปรคิดส์ เพื่อเป็นความหวังตามหาลูก โดยทั้ง 3 ครอบครัวคือ แม่ของน้องจีจี้ หรือ ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม หายตัวไปนาน 15 ปี, แม่ของน้องดา หรือ ด.ญ.พัทธวรรณ อินทร์สุข หายตัวไป 11 ปี และแม่ของน้องอัษ หรือ ด.ช.เทอญพงษ์ หายตัวไปนาน 6 ปี
วิธีป้องกันเด็กหาย-พลัดหลงในงานวันเด็ก
สำหรับวันเด็ก 11 ม.ค.นี้ สถาบันนิติเวชวิทยาและมูลนิธิกระจกเงา ได้ฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้ปกครองเพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเด็ก ดังนี้
- ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า
- ให้ถ่ายรูปล่าสุด พร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน
- ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้
- สอนลูก ว่าหากพลัดหลงนัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ
- สอนลูก หากตกอยู่ในอันตรายหรือมีคนจูงมือไป ให้ตะโกนให้คนช่วย
ทั้งนี้ หากเด็กสูญหาย ค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือแจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมง
อ่านข่าว
แกะกล่อง "ของขวัญ" สุดปังวันเด็กปี 2568
ทำเนียบ! พร้อมรับวันเด็กนั่งเก้าอี้นายกฯ-โชว์รถโบราณ-หมูเด้ง