ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

JAS ชิง "ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก" แผน "ลุยสตรีมมิ่ง-ล้มยักษ์ถาวร"

กีฬา
22 ธ.ค. 67
18:05
329
Logo Thai PBS
JAS ชิง "ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก" แผน "ลุยสตรีมมิ่ง-ล้มยักษ์ถาวร"

เป็นที่ฮือฮาในวงการสื่อกีฬาอย่างยิ่ง เมื่อ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ "JAS" ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต "3BB", ช่องดิจิทัลทีวี "Mono 29" และ สตรีมมิ่ง "MONOMAX" คว้าลิขสิทธ์พรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาล (2025-2031) ด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 20,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนสูงที่สุดตั้งแต่มีการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในประเทศไทย มูลค่ามากกว่า 2 เท่าที่ทรูวิชั่นส์ได้ลิขสิทธ์ ในปี 2022-2025

ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS ออกมาเปิดเผยการซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวว่า "ครั้งแรก เราเจรจาซื้อหุ้นลิเวอร์พูลจำนวนร้อยละ 10 แต่ดีลดังกล่าวไม่เป็นผล จึงนำเงินมาซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจำนวน 6 ฤดูกาลแทน"

โดยช่องทางการถ่ายทอดสดนั้น จะเน้นที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นหลัก ในรูปแบบ Pay to view สมัครสมาชิกก่อนจึงจะรับชมได้ และแบ่งแมทช์จำนวนหนึ่งมาถ่ายทอดสดทางดิจิทัลทีวีของตนเอง (Mono 29) ซึ่งเป็นระบบ Standard Definition (SD) ทั้งยังมีการตัดไฮไลท์ คอนเทนต์ขนาดสั้น รวมไปถึงรายการที่แถมมากับแพ็คเกจลิขสิทธิ์ ออกอากาศทั้งสองช่องทาง ไม่เพียงเท่านั้น ยังเร่งเจรจาพันธมิตรกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่น ๆ เช่น AIS Play เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชมอีกด้วย

ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นประเด็นการเปลี่ยนมือ "ผู้ถือครอง" ลิขสิทธิ์ธรรมดา แต่จริง ๆ แล้ว สถานการณ์เช่นนี้ JAS กำลังเตรียม "บุกตลาด" สตรีมมิ่งอย่างจริงจัง และจะ "ล้มยักษ์" คู่แข่งถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกได้อย่าง "ถาวร" หรือไม่ ?

บทเรียน "CTH" พังทั้งยวง หนีไม่พ้นร่มเงา "ทรูวิชั่นส์"

ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกในประเทศไทย "ทรูวิชันส์" ครอบครองมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยยังร่วมทุนกับ UBC โดยมีลักษณะการถ่ายทอดสดผ่านเคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม โดยต้องสมัครสมาชิก ทั้งแบบรายเดือน และรายปี เพื่อจะได้ "กล่องรับสัญญาณ" มารับชมพรีเมียร์ลีกอย่างจุใจ จำนวน 380 แมทช์

ก่อนที่ทรูวิชั่นส์จะแยกตัวออกมาจาก UBC และซื้อลิขสิทธิ์ด้วยตนเอง ในปี 2007 ด้วยเม็ดเงินจำนวนกว่า 500 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก ๆ ในยุคนั้นสำหรับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา เพราะตามความเข้าใจของชาวไทย การถ่ายทอดสดกีฬาส่วนใหญ่ในไทยจะเป็นการ "ดูฟรี" เสมอ แน่นอน ทรูวิชั่นส์เข้าใจพฤติกรรมผู้ชมดี จึงแบ่งให้ "ฟรีทีวี" รับไปออกอากาศ ซึ่งเป็น "ช่อง 3" ที่ได้ไป โดยคัดเลือกแมทช์รอง ทีมเล็ก มาถ่ายทอดสด และนาน ๆ จะได้ถ่ายทอดทีมใหญ่ระดับบิ๊กแมทช์สักครั้ง

ในช่วงปี 2013 มีผู้ท้าชิงรายใหม่เข้ามาในสนามถ่ายทอดสดนี้ คือ Cable Thai Holding หรือ "CTH" นำทัพโดย "วิชัย ทองแตง" เจ้าของฉายา "พ่อมดตลาดหุ้น" และอดีตทนายความคดีซุกหุ้นของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ "เตะตัดขา" ทรูวิชันส์ ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินที่ทรูวิชั่นส์จ่ายให้พรีเมียร์ลีกกว่า 3 ฤดูกาลก่อนหน้า (2010-2013) ถึง 2,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4.5 เท่า

กลยุทธ์พรีเมียร์ลีกของ CTH คือ การดึง "ฐานลูกค้า" มาจากทรูวิชั่นส์ ที่เป็นคอบอลพรีเมียร์ลีกให้เปลี่ยนมา "ภักดี (Loyalty)" กับเจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกรายใหม่แทน โดยวางแผนระยะยาวให้เป็น "คอนเทนต์หลัก" ของบริษัท

วิชัย ทองแตง เคยกล่าวว่า "หัวใจของเคเบิ้ลทีวี คือ คอนเทนต์ และคอนเทนต์ที่เป็นพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้นถือได้ว่ามีมูลค่ามากที่สุดในโลก และเราก็วิเคราะห์ว่า ถ้าเราเชื่อมโยงโครงข่ายได้สำเร็จ เราจะเป็นบริษัทที่น่าสนใจของคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เราจึงใส่ราคาประมูลเข้าไปสูง"

เท่านั้นยังไม่พอ CTH ชูจุดเด่นที่จะดึงและเพิ่มฐานลูกค้าอีกทางหนึ่ง คือ เป็นศูนย์รวม "โครงข่าย" เคเบิ้ลทีวีขนาดใหญ่ จากทั่วประเทศ เพราะ วิชัย ทองแตง เคยมีประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือบรรดาเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นต่าง ๆ ในฐานะที่ปรึกษามาแล้ว

"พอเขาเดือดร้อนด้านการเงินเราก็อดไม่ได้ที่จะช่วย เลยคิดว่า ถ้าใส่เงินลงไปจะได้คืนไหม เลยนั่งคุยกัน ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ … เพราะต่อไปการแข่งขันจะเข้มข้นมากขึ้น … เรื่องการจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล การมี กสทช. เป็นตัวกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้บริษัทเคเบิ้ลทั้งหลายต้องปรับตัว ไม่งั้นจะตกในภาวะกดดันและถดถอย เมื่อเขาประชุมกันแล้ว ก็เลยชวนผมเข้าไปถือหุ้นด้วย"

ดูเหมือนว่าจะเป็นการสร้างแต้มต่อและไปได้สวย แต่เมื่อดำเนินธุรกิจจริง ๆ กลับ "พังพินาศ" มากกว่าที่คาดไว้ อย่างแรก CTH ไม่สามารถสร้างภาคีเครือข่ายเคเบิ้ลทีวีทั่วประเทศได้อย่างที่หวัง ทำให้มีช่องเข้าร่วมน้อย การดึงลูกค้าจึงน้อยตาม รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างกันที่มีมาเป็นระยะ ๆ

เมื่อมีจำนวนช่องน้อย ทำให้การดึงฐานลูกค้าจึงเหลือเพียงช่องทางเดียว คือ พรีเมียร์ลีก ทฤษฎีทางเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) เรียกสภาพดังกล่าวว่า "Dutch Disease" หมายถึง การลงทุนโดยหวังพึ่งพิงทรัพยากร ตลาด ธุรกิจ หรือแพลตฟอร์มอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป ไม่กระจายความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่น ๆ หากยังทำกำไรได้ก็ดีไป ในทางตรงข้าม เมื่อพังทลาย ก็จะล้มทั้งยวง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศเวเนซูเอลา ที่เน้นส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว เมื่อราคาน้ำมันร่วงลงถึงขีดสุด ก็กลายเป็นรัฐล้มเหลวจนถึงปัจจุบัน

ซึ่ง CTH เข้าข่ายพังพินาศอย่างถึงที่สุด จากข้อมูลของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ว่า ผลประกอบการ CTH ปี 2557 มีรายได้รวม 2,671 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายรวม 7,126 ล้านบาท คิดเป็นยอด "ขาดทุนสุทธิ" จำนวน 4,455 ล้านบาท มากกว่าปี 2556 ที่ขาดทุน 3,279 ล้านบาท หรือกว่า 1.36 เท่า และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ ยอดสะสมการขาดทุนของ CTH มีจำนวนมากกว่า 7,922 ล้านบาท เลยทีเดียว

แม้จะเป็นที่เข้าใจได้ว่า CTH มีความจำเป็นต้องพึ่งการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก เพื่อดึงดูดกลุ่มคอบอล รวมถึงแฟน ๆ ทรูวิชั่นส์ให้เปลี่ยนใจมาซื้อกล่องของตน เพราะไม่ว่าอย่างไร ลีกดังกล่าวก็ได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มากเกินกว่า "กึ่งหนึ่ง" ของโลก (ประมาณ 1.6 พันล้านคน) โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้ชมมากกว่าร้อยละ 56 ในเอเชีย (ประมาณ 386 ล้านคน) และมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 31 ต่อปี

แต่เงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ชม "ติดหนึบ" กับ CTH มีมากกว่านั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว เพราะฟุตบอลจะเตะกันเพียงช่วงเวลาค่ำ รวมระยะเวลาถ่ายทอดสดประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงเวลาออกอากาศที่เหลือ ต้องสรรหาคอนเทนต์อะไรก็ตามมาดึงดูดผู้ชมให้ได้ ตรงนี้ ถือว่าสอบตก และแพ้ทรูวิชั่นส์ราบคาบ บรรดากูรูฟุตบอล ผู้สันทัดกรณี หรืออินฟลูเอนเซอร์กีฬาต่าง ๆ ยังคงอยู่กับทรู มากกว่าที่จะยกโขยงมา CTH

ในการประมูลลิขสิทธิ์ ปี 2016 CTH ไม่สามารถสู้ราคาได้ โดยพ่ายแพ้ให้กับ "beIN Sport" ที่จ่ายเงินไปราว 10,000 ล้านบาท ทั้งที่จริง ๆ ราคาแทบไม่แตกต่างจากที่ CTH ประมูลได้เมื่อ 3 ปีก่อนเลย มิหนำซ้ำ ในปีเดียวกัน CTH ก็ยุติการดำเนินธุรกิจ ปิดตำนาน "กระชากลิขสิทธิ์" พรีเมียร์ลีกจากทรูวิชั่นส์เพียงเท่านี้

ลิขสิทธิ์ "สตรีมมิ่ง" เพิ่มมูลค่าพรีเมียร์ลีก "หัวกระไดไม่แห้ง"

งานวิจัย The English Premier League TV Rights Selling Model – Historical Study และ The English Premier League Internet Broadcasting Rights Selling Model – Historical Study เขียนโดย โคโทรมานิดีส คริสทอส (Koutroumanides Christos) อาจารย์ประจำ Democritus University of Thrace เสนอว่า การเกิดขึ้นของ อินเทอร์เน็ตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ส่งผลให้ "บริษัท พรีเมียร์ลีก" เปลี่ยนท่าทีการประมูลลิขสิทธิ์

จากเดิมที่จะปล่อยให้ "ขาประจำ" เช่น SkySport เปลี่ยนมาเป็นปล่อยบนเงื่อนไข "ประสิทธิภาพ" ของการถ่ายทอดสด หมายถึง สตรีมมิ่งจะเป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบในเกมนี้ทันที ด้วยช่องทางที่สามารถรับชมถ่ายทอดสดที่ใดก็ได้ ขอเพียงมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะช่วยเพิ่มลูกค้าได้มากกว่าเคเบิ้ลทีวี หรือ ทีวีดาวเทียม

ในปี 2016 Amazons, Netflix และ Google หันมาประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก เพื่อเป้าหมายสตรีมมิ่งอย่างชัดเจน แต่ศาลสูงสุดของอังกฤษเบรกไว้เสียก่อน เนื่องจากขัดหลักการ "เผยแพร่ภาพสาธารณะ (Public Boardcasting)" ที่ฟุตบอลลีกในประเทศ จะมาเสียเงินรับชมไม่ได้ ดังนั้น พรีเมียร์ลีกจึงทดลองขายลิขสิทธิ์แยก เช่น การให้ Amazons เข้าถ่ายทำสารคดีของ "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" แทน

แม้ในประเทศไม่สามารถทำได้ แต่ในระดับสากล พรีเมียร์ลีกสามารถปล่อยลิขสิทธิ์ "สตรีมมิ่ง" ได้อย่างเสรี แม้กระทั่งในประเทศไทย ที่ JAS หยิบชิ้นปลามันนี้ไปครอง ก็เป็นผลมาจากนโยบายพรีเมียร์ลีกเช่นกัน ข้อได้เปรียบของ JAS คือ บริษัทมีทั้งสตรีมมิ่ง และ ฟรีทีวี อยู่ในมือ อีกทั้งยังเป็นเจ้าตลาดอินเทอร์เน็ตมาช้านาน ส่งผลให้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitiveness) เรียกได้ว่าแทบไม่แตกต่างจากทรูวิชั่นส์ แถมยังได้เปรียบกว่าเล็กน้อย

 

เนื่องจากระบบสตรีมมิ่งของ JAS คือ MONOMAX ซึ่งคือ OTT (Over the top) ให้บริการมายาวนานกว่า "ทรูวิชั่นส์ NOW" ที่เพิ่งเปิดตัวเพื่อรองรับการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-25 นี้เอง และประสบปัญหาในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางรับชมไม่ครบแมทข์ รวมไปถึงความละเอียดของภาพ ความไม่คมชัด หรือ "แอพเด้ง" เข้าแล้วสัญญาณหลุดบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ดร.โสรัชย์ ยังออกมาเปิดเผยว่า พร้อม "หั่นราคา" แพ็กเกจการรับชมพรีเมียร์ลีก ให้เหลือ "ไม่เกิน 400 บาท" ซึ่งถูกลงกว่าของทรูวิชั่นส์ที่อยู่ในหลัก 600-800 บาท ลงไปเกือบเท่าตัว

ประเมิน "สงครามแพล็ตฟอร์ม" พรีเมียร์ลีก "สตรีมมิ่ง ปะทะ ลิงก์เถื่อน"

กลยุทธ์ของ JAS คือ ปิดจุดด้อยที่เป็นปัญหาของทรูวิชั่นส์ แน่นอน เรื่องการถ่ายทอดสดบนทีวี ทรูอาจจะมีมากกว่า แต่เรื่องแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง JAS ถือว่าไม่น้อยหน้าเช่นกัน และมีประสบการณ์มากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ในสงครามลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ไม่ได้เป็นการปะทะกันระหว่าง JAS และ ทรูวิชั่นส์ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี "ผู้เล่นที่มองไม่เห็น" อีกเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบของ "ลิงก์เถื่อน (Pirated Link)" ที่ไม่สามารถสืบสาวต้นตอและเอาผิดทางกฎหมายได้

ลิงก์เถื่อน หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ช่องทางธรรมชาติ" นั้น แน่นอนว่าเป็นการดูดสัญญาณมาสตรีมมิ่งให้รับชมฟรี ๆ ไม่ต้องไปประมูลสิขสิทธิ์ให้เสียเงิน เสียเวลา และในบางครั้ง การสตรีมมิ่งผ่านลิงก์เถื่อนเหล่านี้ กลับทำได้ดีกว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เสียด้วยซ้ำ เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลในระบบ "4K" ซึ่งสตรีมมิ่งหลายต่อหลายรายยังทำไม่ได้

แม้กระทั่ง การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีก "นอกสายตา" ที่ไม่ได้อยู่ในสปอตไลท์ ไม่คุ้มค่ากับการซื้อลิขสิทธิ์มาเผยแพร่ แต่ว่า ลีกดังกล่าว มีนักเตะสัญชาติตนเองได้ลงสนาม แฟนบอลย่อมมีเป็นความชาตินิยม และอยากชมฟอร์มการเล่น ช่องทางที่ดีที่สุดคือการเข้าลิงก์เถื่อน เช่น "ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา" ศูนย์หน้าความหวังใหม่ของทีมชาติไทย ได้ลงสนามให้กับ "โอเอช ลูเวน (OH Leuven)" ในลีกสูงสุดของเบลเยียม (Belgian First Division) ซึ่งไม่มีผู้ใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ต้องหาชมได้จากช่องทางธรรมชาติเท่านั้น

ต้องติดตามการพิสูจน์ "ฝีมือ" ของ JAS ในการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกไปอีก 6 ฤดูกาลข้างหน้า หากทำได้มีประสิทธิภาพจริง เราอาจได้เห็น "การเปลี่ยนผ่านอำนาจ (Power Transition)" ลิขสิทธิ์ฟุตบอลอังกฤษในประเทศไทยไปอีกนาน แต่หากตรงกันข้าม จุดจบอาจเป็นเช่นเดียวกับ CTH ก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง