ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.แจง "3 สิทธิรักษาพยาบาล" คนต่างด้าวในไทย ต้องรู้อะไรบ้าง ?

สังคม
21 ธ.ค. 67
19:42
267
Logo Thai PBS
สธ.แจง "3 สิทธิรักษาพยาบาล" คนต่างด้าวในไทย ต้องรู้อะไรบ้าง ?
สธ.เผย "3 สิทธิรักษาพยาบาลคนต่างด้าว" ครอบคลุมกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะ, แรงงานถูกกฎหมาย และ ผู้ซื้อประกันสุขภาพ พร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถชำระค่ารักษา เน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

วันนี้ (21 ธ.ค.2567) สืบเนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับภาระค่ารักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยระบุว่าโรงพยาบาลรัฐต้องแบกรับค่ารักษาที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ถึงเกือบ 13,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการจัดการระบบสิทธิรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงชี้แจงแนวทางการจัดการระบบดังกล่าวและการดูแลภายใต้หลักมนุษยธรรม

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

รู้จัก "3 สิทธิรักษาพยาบาล" สำหรับคนต่างด้าว

นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ระบบสาธารณสุขของไทยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อดูแลผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนา ปัจจุบันมีการแบ่งสิทธิการรักษาสำหรับคนต่างด้าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐ (กลุ่ม ท.99)

  • บุคคลในกลุ่มนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย ได้รับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรายชื่อในฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย
  • ใช้สิทธิรักษาผ่านกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุน ท.99) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
  • ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนกับกองทุนกว่า 723,603 คน

2.แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนถูกต้องต

  • แรงงานกลุ่มนี้อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม นายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบให้ตามกฎหมาย
  • ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย สิทธิคลอดบุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน

3.กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว

  • แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือกำลังรอสิทธิ จะต้องซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข
  • สิทธินี้ครอบคลุมการตรวจสุขภาพ การรักษา การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค

แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มไม่มีสิทธิรักษา

ส่วนกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และไม่ใช่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามที่มติ ครม.กำหนด หากเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ จะต้องชำระค่ารักษาเองเต็มจำนวน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความสามารถในการชำระค่าบริการ หน่วยบริการสามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม โดยงบประมาณบางส่วนอาจได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรนานาชาติ

ทั้งนี้ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือซักซ้อมแนวทางการขึ้นทะเบียนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิต้องมีเอกสารยืนยัน ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวบุคคล
  • ทะเบียนบ้าน
  • หนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

นพ.มณเฑียร กล่าวปิดท้ายว่า การดูแลคนต่างด้าวภายใต้ระบบสาธารณสุขไทย เป็นการผสมผสานระหว่างความจำเป็นทางกฎหมายและความรับผิดชอบทางมนุษยธรรม ซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ

อ่านข่าวอื่น :

ไทยพร้อมรับมือ! สหรัฐฯ พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 จากสัตว์เลี้ยง

"โรงพยาบาลชายแดน" ความมั่นคงสุขภาพ-ความมั่นคงชายแดน

ปิดด่านไทย-เมียนมา อหิวาตกโรคระบาดเมียวดี ป่วย 300 ตาย 2 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง