วันนี้ (16 ธ.ค.2567) นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ พร้อมด้วยนายเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันแถลงถึงความรับผิดชอบในการตอบกระทู้ถามของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยวันนี้เปิดสมัยประชุมวุฒิสภาวันแรก มีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
แต่ปรากฏว่ากระทู้ทั่วไปที่ต้องยื่นเป็นเอกสารไว้ก่อน 3 กระทู้ รัฐบาลมาตอบเพียง 1 กระทู้ อีก 2 กระทู้ เลื่อนออกไปต้นปี 2568 ทั้งที่ความจริงรัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมาตอบ ก็จะทำให้การทำงานของสภาและรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนไปโดยไม่มีเหตุผลสมควร
ส่วนกระทู้สด หรือกระทู้ถามด้วยวาจา 3 กระทู้ ก็ไม่ได้ถามเลยแม้แต่กระทู้เดียว โดยรัฐบาลอ้างว่ามอบหมายให้ รมช.มหาดไทยมาตอบ แต่ก็เลื่อนออกไป ทำให้วาระกระทู้สดวันนีัไม่มีกระทู้ใดได้ตรวจสอบรัฐบาล แม้แต่กระทู้เดียว เมื่อไม่มีการตอบจึงถือโอกาสนี้แถลงกับสื่อ
อ่านข่าว "ภูมิธรรม" เชื่อ หลังปีใหม่ มีข่าวดี 4 ประมงไทยในเมียนมา
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องที่ยื่นถามไปเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับคดี นพ.บุญ วนาสิน ฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว และเคยยื่นญัตตินี้เข้ากรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา แต่ปรากฏว่ารัฐบาลที่มี 6 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ส่งตัวแทนมาตอบแบบขอไปที
ทั้งที่เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่สุดท้ายหมอบุญ ก็ยังหนีออกจากประเทศไปได้ พร้อมยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปหมด จนไม่สามารถนำมาชดใช้บรรเทาทุกข์แก่ผู้เสียหายได้ จึงขอถามว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ไม่ใช่ให้โฆษกรัฐบาลออกมาบอกว่า มีมูลค่าความเสียหายมากมาย เตือนประชาชนแล้วว่าอย่าโลภ อย่าโอน อย่าหลงเชื่อ แบบนี้ไม่น่าจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ พร้อมนายเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา แถลงถึงความรับผิดชอบในการตอบกระทู้ถามของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
"นายกรัฐมนเอก" ผูนำจิตวิญญาณพท.
ทั้งนี้จะทำหนังสือเป็นเอกสารด่วนถึงนายกรัฐมนตรี ว่าถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ ก็จะตามเรื่องไม่ปล่อย และจะทำเรื่องถึง "นายกรัฐมนเอก" ที่ออกมาพูดโจมตีกรณีรัฐมนตรีบางพรรคไม่มาร่วมประชุม ครม.ในฐานะที่อาจจะกำกับนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งหรือไม่
จึงขอพึ่งอำนาจของ "นายกรัฐมนเอก" ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย มากำกับเรื่องนี้ให้ เพราะดูชำนาญเรื่องหุ้น เรื่องตลาดหลักทรัพย์ ไม่แพ้ใครในประ เทศไทย เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ประสานงานตำรวจสากลแล้ว ก็ไม่สามารถนำตัวหมอบุญกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ จึงไม่รู้จะพึ่งใคร ต่างคนก็มีความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้ได้ แต่ก็ยังสิ้นหวังอยู่
นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา ฝากมาว่า ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการมาตอบกระทู้กับ สว.ด้วย คณะรัฐมนตรี 35-36 คน จะมอบหมายให้ใครมาตอบเป็นไปไม่ได้เลยหรือ
ด้านนายเศรณี กล่าวว่า ได้รับผลกระทบในการเลื่อนกระทู้ของรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งนี้มีประเด็นที่ได้ถามไปถึงกระทรวงเกษตรสหกรณ์ เกี่ยวกับการทำประมงนอกน่านน้ำ การที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม ทำให้ประเทศไทยสูญเปล่าในการทำประมงนอกน่านน้ำ
โดยเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์และมหิดล 2 ลำนี้ ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2529 เป็นเวลาถึง 38 ปี ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมและบำรุงรักษาเลย จนเมื่อปี 2565-66 ถูกกรมเจ้าท่าเพิกถอนใบอนุญาตในการเดินเรือ เพราะไม่อยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยในการเดินสมุทร ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสด้านเศรษฐกิจพยายามถาม
ขอ "แพทองธาร" ตอบกระทู้สักครั้ง
ส่วน สว. ประเมินผลงานรัฐบาล 90 วันอย่างไร นพ.เปรม ระบุว่า รัฐบาลละเลยความรับผิดชอบต่อสถาบันนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องว่าแทนที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงผลงาน 90 วัน อยากให้มาตอบกระทู้ของวุฒิสภาสักครั้ง
พร้อมย้ำว่า นายกรัฐมนตรี แถลงในที่ต่าง ๆ ได้ เพราะไม่มีใครซักถามข้อมูล ทั้งนี้ไม่อยากให้นายกรัฐมนตรี เคยชินกับการพูดเพียงฝ่ายเดียว จะดูไอแพดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมีวุฒิภาวะในการตอบโต้คำถาม หรือชี้แจง โดยมีกระบวนการ 2 ฝ่าย คือให้ สว.ได้ถามในสภา ซึ่ง สว.น่ารัก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่นายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยง หรือโยนให้แต่ละรัฐมนตรีคนอื่นมาตอบ
ส่วนถ้านายกรัฐมนตรี ยังไม่มาตอบทั้งฝั่ง สส.และ สว.จะทำอย่างไร นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าไม่มาตอบก็อาจจะมีการเสนอเข้าชื่อเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ เพื่อให้รัฐบาลได้ผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้หารือกันว่าจะเป็นเมื่อไหร่
อ่านข่าวอื่นๆ 3 บอสดารา "ดิไอคอน" ส่งหนังสือแก้ข้อกล่าวหาย้ำเป็นเพียงผู้รับจ้าง
"แพทองธาร" เยือนมาเลเซีย
ส่วนภารกิจ น.ส.แพทองธาร คณะรัฐมนตรี เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ โดยหารือกับนายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยบรรลุข้อตกลงทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมใต้ การคมนาคม การศึกษา ความมั่นคง ท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซียยินดีที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานชายแดนมีความคืบหน้า และพร้อมจะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงทางถนนและทางราง เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชายแดนและให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนมากขึ้น
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สำคัญ 2 ฉบับเกี่ยวกับความร่วมมือด้านยางและวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อมั่นว่า เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของสองประเทศ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ณ ห้อง Protocol ทำเนียบนายกรัฐมนตรี มาเลเซีย ก่อนเดินทางกลับถึงประเทศไทยในช่วงเย็นของวันเดียวกั
อ่านข่าว รวบ 2 ชาวต่างชาติคาสนามบิน ซุกเฮโรอีน 21.8 กก.