วันนี้ (22 พ.ย.2567) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอสภาผู้บริโภค แพทยสภา ควรถอนฟ้อง สปสช. ใจความ สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้แพทยสภาพิจารณาถอนฟ้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจากร้านขายยาได้โดยตรงสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
การที่ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงยาจากร้านขายยา นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุข และเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลหรือในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมาก
แม้ว่าแพทยสภาจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยในการรับยาจากร้านขายยา แต่การมีระบบการควบคุมคุณภาพยาที่เข้มงวด และการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ หากแพทยสภาชนะคดี อาจส่งผลให้ประชาชนสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงยาจากร้านขายยา และต้องกลับไปพึ่งพาการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
เกิดอะไรขึ้นระหว่าง แพทยสภา-สปสช.-สภาเภสัชกรรม
ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 สปสช. ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรมและร้านยาคุณภาพทั่วประเทศ ทำโครงการ "ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ" อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือบัตร 30 บาท ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ หรืออาการทั่วไปอื่น ๆ สามารถเข้ารับการรักษาและรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความแออัดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล โดย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่
- ปวดหัว (HEADACHE)
- เวียนหัว (Dizziness)
- ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)
- เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN)
- ไข้ (FEVER)
- ไอ (COUGH)
- เจ็บคอ (SORE THROAT)
- ปวดท้อง (STOMACHACHE)
- ท้องผูก (CONSTIPATION)
- ท้องเสีย (DIARRHEA)
- ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)
- ตกขาวผิดปกติ(VAGINAL DISCHARGE)
- อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)
- บาดแผล (WOUND)
- ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER)
- ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)
แต่นโยบายนี้กลับเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจาก "แพทยสภา" ซึ่งมีความกังวลในประเด็นหลักคือ ขอบเขตการประกอบวิชาชีพ แพทยสภาเห็นว่าการที่เภสัชกรวินิจฉัยโรคและจ่ายยาบางชนิด อาจเกินกว่าขอบเขตความสามารถของเภสัชกร โดยเฉพาะในกรณีที่อาการของโรคมีความคล้ายคลึงกัน แต่ต้องการการวินิจฉัยที่แม่นยำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว ขัดต่อ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงฟ้องร้อง สปสช. ต่อศาลปกครอง
สปสช. เดินหน้าดูแลผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการต่อ
ด้านทางเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงต่อว่า ไม่ก้าวล่วงทางกฎหมาย ทาง สปสช. ยังคงให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จนกว่าศาลจะมีคำสั่งสิ้นสุด เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาล พร้อมเผยผลสำรวจสุขภาพประชาชนพบว่าร้อยละ 40 เลือกใช้บริการร้านยาเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น และย้ำว่าระบบร้านยาคุณภาพมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและส่งต่อผู้ป่วยหากจำเป็น
และ สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ยังคงดำเนินการโครงการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการต่อไปตามปกติ แม้ว่าจะถูกแพทยสภาฟ้องร้องก็ตาม โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินงานของโครงการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม
สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ที่สนับสนุนโครงการนี้ที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและระบบสาธารณสุข พร้อมแนะนว่าหากกังวลเรื่องความผิดพลาด ให้เภสัชกรเข้าร่วมโครงการรับการอบรมและประเมินความรู้ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และเภสัชกร จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น
แพทยสภาเรียกร้องทบทวนโครงการฯ
วันที่ 11 พ.ย.2567 พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา เปิดเผยถึงกรณีที่แพทยสภายื่นฟ้อง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ระงับและทบทวนโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรในร้านยา
พญ.ชัญวลี ระบุว่า แพทยสภาไม่ได้คัดค้านการให้เภสัชกรจ่ายยาสำหรับโรคเล็กน้อย แต่แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยโรคก่อนการจ่ายยา โดยเฉพาะยาที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ยาตา หรือยาไมเกรน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แพทยสภาเสนอว่า ควรจำกัดการจ่ายยาให้เฉพาะยาที่ขายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา เพื่อป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
แถลงการณ์แพทยสภา
วันที่ 19 พ.ย.2567 แพทยสภาได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นฟ้อง โดยย้ำว่า แม้โครงการดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกในการรับยาแก่ประชาชน แต่ยังมีข้อกังวลสำคัญในด้านความปลอดภัย แพทยสภาให้ข้อมูลว่า การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกรอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งบางครั้งอาการที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก ไส้ติ่งแตก หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตก ซึ่งต้องได้รับการตรวจและรักษาโดยแพทย์อย่างเร่งด่วน
ความเสี่ยงจากดุลยพินิจของเภสัชกร
การให้เภสัชกรใช้ดุลพินิจในการจ่ายยาในบางอาการที่ซับซ้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน การดื้อยา หรือผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดและแม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนเฉพาะทาง เช่น การตรวจร่างกายหรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของวิชาชีพเภสัชกรรม
พยายามหาทางออกร่วมกัน
แพทยสภาระบุว่า ได้พยายามหารือกับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้โครงการดังกล่าวถูกระงับและทบทวนใหม่ แพทยสภายืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีเจตนาขัดขวางการทำงานของเภสัชกร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสมในระบบสุขภาพของประเทศ
จดหมายเปิดผนึกจาก "สภาเภสัชกรรม"
ทางด้าน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยถึงข้อพิพาทระหว่างแพทยสภาและเภสัชกรยืนยันว่าการดำเนินการของเภสัชกรในร้านยาเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ เพื่อดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาโรค ยืนยัน ต่างคนต่างทํางานของตัวเอง ไม่ได้ถือว่าก้าวล่วง เพราะมีกฎหมายรองรับ แต่แพทย์บางกลุ่มไม่ยอม จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทั้งนี้มีการพูดคุยร่วมกันหลายครั้งเพื่อหาขอบเขตการปฏิบัติงานระหว่าง 2 วิชาชีพ ขณะเดียวกันย้ำว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล หากโครงการถูกยกเลิก จะส่งผลต่อการให้บริการประชาชนในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
สภาเภสัชกรรมได้ออกจดหมายเปิดผนึก 3 ฉบับ ในเดือน พ.ย.2567 เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรในร้านยา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ฉบับที่ 1 (12 พ.ย.2567)
สภาเภสัชกรรมยืนยันว่า ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในโครงการดังกล่าว ซึ่งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ และการบริการดำเนินไปตามมาตรฐานการซักประวัติและการส่งต่อแพทย์ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น สถิติชี้ว่าร้อยละ 90 ของผู้รับบริการกว่า 1.74 ล้านคน อาการทุเลาลง และประชาชนให้ความพึงพอใจในระดับสูงสุด
ฉบับที่ 2 (17 พ.ย.2567) จดหมายฉบับนี้สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- โครงการดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537) และผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
- เภสัชกรปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งการซักประวัติ คัดกรองอาการ และการจ่ายยา
- ประชาชนสามารถเลือกรับบริการจากเภสัชกรหรือพบแพทย์ได้ตามความเหมาะสม
- หลักสูตรการศึกษาของเภสัชกรที่ใช้เวลา 6 ปี มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านยาและการบริบาลเภสัชกรรม
- รูปแบบโครงการคล้ายกับระบบ Pharmacy First ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเภสัชกรมีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพปฐมภูมิ
โครงการนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 1.77 ล้านคน โดยไม่มีปัญหาร้ายแรง และได้รับการตอบรับในระดับสูง (คะแนนความพึงพอใจ 4.76 จาก 5) พร้อมแผนขยายกลุ่มอาการจาก 16 เป็น 32 อาการ
ฉบับที่ 3 (21 พ.ย.2567)
สภาเภสัชกรรมเน้นย้ำว่าโครงการนี้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจาก สปสช. และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่มีกรณีปัญหาร้ายแรงและช่วยลดภาระงานของแพทย์ในระบบสุขภาพ เภสัชกรมีบทบาทในการคัดกรองอาการเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง โดยการซักประวัติเพื่อจ่ายยานั้นเป็นมาตรฐานที่เภสัชกรปฏิบัติมากว่า 70 ปี
สภาเภสัชกรรมเรียกร้องให้แพทยสภาพิจารณาประเด็นความปลอดภัยด้านยาในระบบสุขภาพทั้งระบบ พร้อมแสดงความพร้อมในการร่วมมือกับแพทยสภาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
ข้อพิพาทระหว่างแพทยสภาและสภาเภสัชกรรม เกี่ยวกับโครงการให้เภสัชกรดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ยังคงเป็นประเด็นร้อนในวงการสาธารณสุข แม้แพทยสภาจะยื่นฟ้องให้หยุดโครงการเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะที่สภาเภสัชกรรมยืนยันว่าการดำเนินการภายใต้กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัย ยังคงช่วยลดภาระในระบบสุขภาพและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
อ่านข่าวอื่น :
หารือ "แพทย์สภา" ปมฟ้อง "สปสช." ให้เภสัชฯ จ่ายยารักษา 32 กลุ่มอาการ ไม่ต้องไป รพ.